Wild Landscape
หน้าแรก เรื่องราวของตำบลตลาด แผนที่การท่องเที่ยวตำบลตลาด งานประเพณีและศิลปวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชน ทรัพยากรชีวภาพ: วัตถุดิบท้องถิ่น ตราผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความประทับใจในตำบลตลาด ข้อมูลสร้างการเรียนรู้ของชุมชน ติดต่อเรา

ข้อมูลสร้างการเรียนรู้ของชุมชน

    ข้อมูลสารสนเทศส่วนนี้ ได้ถูกรวบรวมเพื่อเป็นองค์ความรู้พื้นฐาน ในการสร้างเรียนรู้ของชุมชน ประกอบด้วย 7 หัวข้อดังนี้ 

1.เกษตรอินทรีย์ 
1.1 การทำเกษตรอินทรีย์
      เกษตรกรและการเกษตรกรรม เป็นอาชีพที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านานจนกลายเป็นรากฐาน ของสังคมไทย การปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ เป็นการผลิตของคนส่วนใหญ่ วิถีชีวิตของคนเพาะปลูกและทำอาชีพเกษตรกรจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างสังคม วัฒนธรรม การปกครอง การกินอยู่ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนการแสดงออกต่าง ๆ ของคนในประเทศและรวมไปถึงเรื่องของการค้า เศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอกประเทศ 
      ดังนั้น เราจึงต้องดูแลให้อาชีพเกษตรกรให้อยู่ได้อย่างมีความสุขและมั่นคงในอาชีพของเขาและในยุคสมัยที่เทคโนโลยี นวัตกรรมและสิ่งต่าง ๆ เข้ามามีอิทธิพลและบทบาทในการทำอาชีพของเกษตรกร ไปจนถึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำงานไป เช่น จากการใช้ควายไถนา เปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร, การใช้ปุ๋ยและสารเคมี, การใช้เทคโนโลยีควบคุมการปล่อยน้ำและอื่น ๆ อีกมาก ก็ยิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้าง พัฒนาและเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นให้วงการเกษตรก้าวไกลให้ทันโลกและนำมาประยุกต์ใช้ในวงการเกษตรของไทยให้ได้ แต่เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยแม้จะอำนวยความสะดวก แต่ด้วยปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ทั้งเรื่องที่ดิน, ต้นทุนการผลิตที่มากขึ้น, ภัยพิบัติ, ภาวะเศรษฐกิจ และอื่น ๆ ก็ทำให้ภาคการเกษตรนั้นมีแนวโน้มที่จะอยู่อย่างลำบากมากขึ้น จนเกษตรกรที่เป็นอาชีพหลักนั้นอยู่อย่างลำบาก และมีแนวโน้มที่จะมีหนี้สินมากยิ่งขึ้น

1.2 เกษตรอินทรีย์
        การทำการเกษตรด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ โดยที่พื้นที่ที่ทำเกษตรนั้น ต้องไม่มีสารพิษ หรือสารเคมีตกค้างและหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางดิน ทางน้ำ  และทางอากาศ เพื่อความสมบูรณ์ทางชีวภาพในระบบนิเวศน์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามสมดุลของธรรมชาติให้มากที่สุด โดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ หรือสิ่งที่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรม และมุ่งเน้นการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบในการผลิตภายใต้มาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตสูง อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารและปลอดสารพิษ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต และสามารถประยุกต์ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อคุณภาพชีวิต และสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

1.3 ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์
         จากการใช้ทรัพยากรดินทำการเกษตรโดยไม่คำนึงถึงผลเสียของ ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในแร่ธาตุและกายภาพของดินตามธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ในดินนั้นสูญหาย และไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งการที่ธรรมชาติขาดสมดุลนี้ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ต่อกระบวนการเจริญเติบโตทางธรรมชาติ แต่เมื่อเกิดความไม่สมดุลขึ้นแล้ว จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ผืนดินสูญเสียความสามารถในการดูดซับแร่ธาตุในดิน ทำให้ผลผลิตมีแร่ธาตุ วิตามิน และพลังงานชีวิตต่ำ เป็นผล ให้เกิดการขาดแคลนธาตุอาหารรองในพืช เป็นสาเหตที่ทำให้พืช ผลผลิตอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทานโรค และทำให้เกิดการคุกคามของแมลง ศัตรูพืช และเชื้อโรคในพืช ซึ่งจะนำไปสู่การใช้สารเคมีฆ่าแมลงและเชื้อราเพิ่มขึ้น ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพในที่สุด และในดินที่เสื่อมคุณภาพนี้ จะทำปฏิกิริยาเร่งการเจริญเติบโตของศัตรูพืชให้เจริญเติบโตแข่งกับพืชเกษตร และนำไปสู่การใช้สารเคมีสังเคราะห์กำจัดแมลงและวัชพืช

1.4 เป็นเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร
        การเกษตรปัจจุบัน สามารถปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ได้โดยเริ่มต้นศึกษาหาความรู้   จากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ถูกกำหนดขึ้น ซึ่งเกษตรกรควรเริ่มต้นด้วยความสนใจ โดยศึกษาหาความรู้ จากธรรมชาติ และเมื่อเริ่มปฏิบัติตามนี้แล้วก็นับได้ว่าก้าวเข้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยนเรียนรู้ และเมื่อได้ลงมือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ไม่นานก็จะสามารถเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับประเภทของการทำเกษตรอินทรีย์ที่จะผลิตขึ้นนั้น ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว และหลักการสำคัญ คือการทำความเข้าใจเกษตรอินทรีย์ และมีความตั้งใจจริง มีความขยันหมั่นเพียร โดยไม่ท้อถอยต่อปัญหาหรืออุปสรรค จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เพราะเกษตรอิทรีย์เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้จริงแล้ว เกษตรกรเองก็สามารถขอรับการผ่านรับรองมาตรฐานจากภาครัฐจึงจะนับได้ว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ที่สมบูรณ์พร้อม

1.5 หลักการผลิตพืชอินทรีย์
      1.5.1 พื้นที่ที่จะทำการเกษตรนั้น ต้องไม่เคยทำการเกษตรเคมีมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
     1.5.2 พื้นที่ ควรมีลักษณะค่อนข้างดอนและโล่งแจ้ง
     1.5.3 พื้นที่ ต้องอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม
     1.5.4 พื้นที่ ควรอยู่ห่างจากแปลงที่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี
     1.5.5 พื้นที่ ห่างจากถนนหลวงหลัก
     1.5.6 พื้นที่ มีแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษ

1.6 มาตรฐานของเกษตรอินทรีย์
        มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ คือเกณฑ์ข้อกำหนดที่เกษตรกรผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตาม และหน่วยงานรับรองจะใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจประเมินการผลิตและตัดสินใจในการรับรองฟาร์มที่ได้ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานนั้น ๆ
        ปกติในการกำหนดมาตรฐานโดยส่วนใหญ่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์กลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ค้า ผู้บริโภค รวมทั้งนักสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการด้านต่าง ๆ จะมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็น และตัดสินใจในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในแต่ละข้อ ความคาดหวัง หรือการให้คุณค่ากับการปฏิบัติเกษตรอินทรีย์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละส่วนจะถูกตรวจสอบ และยอมรับ หรือปฏิเสธโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการ เพราะผู้ผลิต และผู้ประกอบการจะเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดเหล่านั้น ดังนั้น มาตรฐานจึงเปรียบเสมือนหนึ่งเป็นกระบวนการแปลความคาดหวังและคุณค่าของเกษตรอินทรีย์ให้เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ ดังนั้น ข้อตกลงในมาตรฐานจึงเปรียบเหมือนเป็น “สัญญาประชาคม” ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีสถานะเสมือนหนึ่งเป็น “คำนิยาม” ของเกษตรอินทรีย์ไปพร้อมกันด้วยจะเห็นได้ว่า มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นภาพสะท้อนของสภาวการณ์การผลิตและการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ที่เกษตรกรได้พัฒนายกระดับความสามารถในการทำการผลิตและแปรรูปให้ก้าวรุดหน้ามากขึ้น ดังนั้น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จึงไม่ใช่มาตรฐานที่หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นสภาพการณ์ที่ยังสามารถมีการแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ตามสภาวการณ์ของการผลิตเกษตรอินทรีย์ ที่นับวันมีแต่จะก้าวรุดหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ

1.7 ข้อกำหนดโดยสรุปของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในบางเรื่องที่สำคัญ
1.7.1  ระบบนิเวศการเกษตร
           ระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ต้องเอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้ม ซึ่งผู้ผลิตจะต้องดำเนินการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพนิเวศท้องถิ่นดั้งเดิมไว้ เพื่อให้พืชพรรณและสัตว์ท้องถิ่นสามารถมีที่อยู่อาศัยได้อย่างเพียงพอ นอกเหนือจากการอนุรักษ์ความหลากหลาย ทางชีวภาพแล้ว เกษตรอินทรีย์ยังจำเป็นต้องมีมาตรการในการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างจริงจังอีกด้วย
1.7.2 การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์
         การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ควรเริ่มจากการมีแผนการปรับเปลี่ยนที่ชัดเจน โดยแผนการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน โดยอาจจะปรับเปลี่ยนฟาร์มทั้งหมดเข้าสู่เกษตรอินทรีย์พร้อมกัน หรือค่อยๆ ปรับเปลี่ยนบางส่วนของฟาร์มเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ก็ได้ แต่ทั้งนี้ แผนการปรับเปลี่ยนจะต้องระบุถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนฟาร์มทั้งหมดเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการจัดแยกระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์และไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ออกจากกัน ซึ่งในแต่ละมาตรฐานอาจกำหนดระยะเวลาของการปรับเปลี่ยนแตกต่างกันไป ซึ่งในช่วงระยะปรับเปลี่ยนนี้อาจใช้เวลา 12-36 เดือนขึ้นอยู่กับมาตรฐาน
1.7.3 การผลิตพืช
        ในระบบการปลูกพืช ควรเลือกปลูกพืชที่หลากหลายชนิดและพันธุ์ เพื่อสร้างเสถียรภาพ และความยั่งยืนของนิเวศฟาร์ม นอกจากนี้ การปลูกพืชหลากหลายพันธุ์ ยังเป็นการช่วยรักษาความหลากหลายของพันธุกรรมพืชไว้ด้วย ในการสร้างความหลากหลายของการปลูกพืชนี้ ควรมีการปลูกพืชหมุนเวียน โดยมีพืชที่เป็นปุ๋ยพืชสดรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชตระกูลถั่วและพืชที่มีระบบรากลึก โดยจัดระบบการปลูกพืชให้มีพืชคลุมดินอยู่ตลอดทั้งปี
1.7.4 การจัดการดิน และธาตุอาหาร
        การจัดการดินที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเกษตรอินทรีย์ การปรับปรุงดินและการบริหารจัดการดินและธาตุอาหาร มีเป้าหมายเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งรวมถึงการจัดการให้มีธาตุอาหารอย่างเพียงพอกับพืชที่เพาะปลูก และเพิ่มพูนอินทรียวัตถุให้กับดินอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างกลไกของการหมุนเวียนธาตุอาหารในฟาร์ม รวมทั้งการป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และการสูญเสียของธาตุอาหาร ซึ่งการจัดหาแหล่งธาตุอาหารพืชนั้นควรเน้นที่ธาตุอาหารที่ผลิตขึ้นได้ภายในระบบฟาร์ม
1.7.5 การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
        ในระดับฟาร์ม การป้องกันกำจัดศัตรูพืชในระบบเกษตรอินทรีย์จะเน้นที่การเขตกรรม   การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี และวิธีกลเป็นหลัก ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างสมดุลของระบบนิเวศการเกษตร ที่ทำให้พืชที่เพาะปลูกพัฒนาภูมิต้านทานโรคและแมลง และสภาพแวดล้อมของฟาร์มไม่เอื้ออำนวยต่อการระบาดของโรคและแมลง ต่อเมื่อการป้องกันไม่เพียงพอ เกษตรกรจึงอาจใช้ปัจจัยการผลิตสำหรับควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืช ซึ่งกำหนดอนุญาตไว้ในมาตรฐาน
1.7.6 การป้องกันมลพิษ การปนเปื้อน และการปะปน
        ในระดับฟาร์ม เกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์จะต้องมีมาตรการในการป้องกันมิให้ดิน  และผลผลิตเกษตรอินทรีย์ปนเปื้อนจากมลพิษ และสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งรวมถึงโลหะหนัก และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน รวมทั้งมีมาตรการในการลดการปนเปื้อน
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แต่ละแห่งจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการแนวกันชน (buffer zone)  ที่แตกต่างกัน โดยอาจมีการกำหนดทั้งระยะห่างระหว่างแปลงเกษตรอินทรีย์กับแปลงเกษตรเคมี หรือการปลูกพืช หรือการจัดทำสิ่งปลูกสร้าง ที่เป็นแนวป้องกันการปนเปื้อน ในพื้นที่แนวกันชนที่แตกต่างกันได้ โดยทั่วไป จะมีการกำหนดเกณฑ์แนวกันชนขั้นต่ำไว้ในมาตรฐาน ซึ่งหน่วยงานรับรองอาจจะพิจารณาให้เกษตรกรต้องมีการจัดการแนวกันชนเพิ่มเติมจากข้อกำหนดขั้นต่ำ โดยการพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงของฟาร์มแต่ละแห่ง
       ในขั้นของการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการจะต้องมีการจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยป้องกันมิให้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ปะปนกันกับวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ หรือสัมผัสกับปัจจัยการผลิต หรือสารต้องห้ามต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน เพราะจะทำให้วัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์นั้นสูญเสียสถานะของการได้รับการรับรองมาตรฐานได้ ยกตัวอย่างเช่น การไม่ใช้กระสอบที่บรรจุปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีมาใช้บรรจุผลผลิตเกษตรอินทรีย์ หรือในการจัดเก็บผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ในโรงเก็บ จะต้องไม่มีการใช้สารกำจัดศัตรูในโรงเก็บ ในขณะที่มีการเก็บผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ขนส่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่จำต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เพื่อพี่น้องชาวเกษตรกรและคนไทยทุกคน โดยทั้งหมดนั้นต่างก็สอดคล้องและรับเข้ากับสถานการณ์ในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ แนวนโยบาย ทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ  และยุทธศาสตร์การวิจัยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของประเทศ การปฏิรูประบบวิทยาศาตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานนวัตกรรมของประเทศ โดยจากที่กล่าวมาจะยกตัวอย่างของการวิจัยที่ทาง สวก. สามารถให้การสนับสนุนและเป็นเรื่องของนวัตกรรมที่สามารถเรียกว่าเป็น Smart farmer ในยุค 4.0 และเป็นต้นแบบของการผลักดันให้เกษตรก้าวไกลไปได้อย่างยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การวิจัยพืชพันธุ์ใหม่, การนำเทคโนโลยี A.I. มาประยุกต์ใช้งาน, การใช้ระบบ IOT (Internet of things), การใช้โดรนขับเคลื่อน, นวัตกรรมการปลุกพืชแบบใหม่, การแปรรูปผลิตภัณฑ์ไปสู่อุตสาหกรรมอื่น และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งตัวอย่างที่จะยกมาในบทความนี้ที่เป็นหนึ่งใน Smart Farmer ในยุค 4.0 ที่น่าสนใจ สิ่งนั้นคือ “อุตสาหกรรมการแปรรูป”
        อุตสาหกรรมการแปรรูป เป็นสิ่งที่มีมานานและถูกพัฒนา วิจัยและเพิ่มพูนความสามารถมาอยู่ในทุกยุคทุกสมัย และการเกษตรกับการแปรรูปก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาเช่นเดียวกัน โดยในยุค 4.0 นี้ มีความน่าสนใจ ที่วงการอุตสาหกรรมแปรรูปจะช่วยพาให้เกษตรก้าวไกลไปได้มากกว่าแค่ผลิตผลทางการเกษตรธรรมดา ยกตัวอย่างเช่น “การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม” เพื่อให้การเกษตรเข้าไปอยู่ในชีวิตของคนยุคใหม่ โดยเราอาจจะได้เห็นมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ รุ่นย่า ผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรานำสมุนไพรต่าง ๆ มาเป็นเครื่องบำรุงผิวพรรณ ซึ่งในยุคปัจจุบันก็ไม่ต่างกัน อุตสาหกรรมความสวยความงามได้นำผลผลิตทางการเกษตรมาวิจัย พัฒนาและต่อยอด เพื่อตอบโจทย์ Beauty Lifestyle ของคนยุคใหม่ ผ่านเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด รวมถึงสารสกัดเรื่องกลิ่นที่มาเป็นส่วนประกอบของสุคนธบำบัด (Aromatherapy) นอกจากสารสกัดจากธรรมชาติจะส่งผลดีต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลด้านวิทยาให้ผู้บริโภคสนใจและเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อีกเช่นกัน  ซึ่งปัจจัยที่จะเพิ่มมูลค่าให้การทำธุรกิจด้านนี้ คือการเกาะตามติดความต้องการ    ของตลาดผู้บริโภคและนำมาพัฒนาให้ตอบโจทย์อยู่ตลอดเวลาหรือจะเป็นเรื่องของ “การแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อผู้สูงอายุ” เพราะประเทศไทยของเราเองกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ (Aging Society) อันเนื่องมาจากประชาชนยุค Baby Boom ได้เข้าใกล้สู่ช่วงอายุความสูงวัย คาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุวัยมากกว่า 60 ปี (เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ) ดังนั้นสินค้า  เพื่อสุขภาพจึงถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ในด้านของความใส่ใจในการดูแลสุขภาพของคนในสังคม  และผู้สูงอายุ โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับความสนใจนั้น ได้แก่พืชผลเกษตรที่ให้คุณค่าทดแทนแป้งและน้ำตาล อาหารเสริมผลิตจากผลผลิตทางการเกษตร เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคของผู้สูงอายุ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือแม้แต่ภาวะทุพโภชนาการ โดยสิ่งเหล่านี้ได้มีการผลิตออกมาวางจำหน่ายทั่วไปแล้ว ยกตัวอย่าง ธัญพืชอัดแท่ง เครื่องดื่มสมูทตี้สําเร็จรูปที่ให้สารอาหารสมบูรณ์สำหรับผู้สูงอายุ ผักอัดเม็ดเสริมโพรไบโอติกส์ น้ำนมข้าวกล้อง เครื่องปรุงรสอาหารที่เน้นการลดโซเดียม เป็นต้น

2.การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร

2.1 การผลิตอาหารปลอดภัย 

       การผลิตอาหารให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานต่าง ๆ ซึ่งแต่ละมาตรฐานมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ระบบคุณภาพที่เป็นพื้นฐานสำคัญได้แก่ Good Manufacturing Practice (GMP) แต่ทั้งนี้เนื่องจากมีการแข่งขันในการผลิตอาหารที่สูงขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความต้องการให้ผู้ผลิตทำการผลิตตามมาตรฐานที่สูงมากขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตจึงควรมีการจัดทำระบบคุณภาพอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาการผลิตอาหารสู่มาตรฐานระดับสากลต่อไป ระบบคุณภาพอื่น ๆ ในโรงงานอาหารที่มีความสำคัญ เช่น Hazard Analysis and Critical Control Point (HACCP), ISO 9001, British Retail Consortium (BRC), International Food Standard (IFS), ISO 22000 เป็นต้น
       สำหรับประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารว่าด้วยสุขลักษณะทั่วไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข  ฉบับที่ 193 พ.ศ. 2543 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร สำหรับอาหารจำนวน 57 กลุ่ม เช่น น้ำแข็ง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ผลิตภัณฑ์ของนม ชา กาแฟ อาหารแช่เยือกแข็ง เป็นต้น และอีกประเภทคือ GMP ที่เป็นข้อกำหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีข้อกำหนดเพิ่มเติมจาก GMP ทั่วไป โดย GMP ทั้ง 2 ประเภทเป็นตามกฎหมายของประเทศไทย โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์ทั่วไป  ด้านสุขลักษณะอาหารของ Codex Alimentarius Commission ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล
      2.1.1 หลักเกณฑ์และวิธีที่ดีในการผลิตอาหาร หลักเกณฑ์และวิธีที่ดีในการผลิตอาหาร (Good manufacturing practice: GMP) คือ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร เป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุม เพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม และทำให้ผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย GMP เป็นระบบประกันคุณภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการผลิต ก่อนที่จะนำไปสู่ระบบประกันคุณภาพอื่น ๆ ที่สูงขึ้นต่อไป
2.1.1.1  ข้อกำหนดของระบบ GMP ตาม Codex ประกอบด้วย 8 หัวข้อดังต่อไปนี้
  1) การผลิตในขั้นต้น (Primary production) เกี่ยวข้องกับสุขลักษณะของสภาพแวดล้อม การผลิตอย่างถูกสุขลักษณะของแหล่งอาหาร การปฏิบัติต่ออาหาร การเก็บรักษาและการขนส่ง การทำความสะอาด การบำรุงรักษาและสุขลักษณะอนามัยส่วนบุคคล
  2) สถานที่ประกอบการ: การออกแบบและสิ่งอำนวยความสะดวก (Establishment: Design and Facilities) เกี่ยวข้องกับทำเลที่ตั้ง อาคารสถานที่ประกอบการ และห้องต่าง ๆ เครื่องมือและภาชนะ และสิ่งอำนวยความสะดวก
  3) การควบคุมการปฏิบัติงาน (Control of Operation) เกี่ยวข้องกับการควบคุมอันตรายของอาหาร จุดสำคัญของระบบการควบคุมสุขลักษณะ เช่น การควบคุมอุณหภูมิและเวลา ข้อกำหนดด้านจุลินทรีย์และอื่น ๆ การควบคุมการปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี จุลินทรีย์ ข้อกำหนดการจัดหาและรับวัสดุ การบรรจุหีบห่อ น้ำ น้ำแข็ง ไอน้ำที่ใช้ในการผลิต การจัดการและการควบคุมดูแล เอกสารและบันทึกข้อมูล และขั้นตอนการเรียกคืน
  4) สถานที่ประกอบการ: การซ่อมบำรุงและสุขาภิบาลโรงงาน (Establishment: Maintenance and Sanitation) เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุง ดูแลรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณผลิต เครื่องจักร อุปกรณ์ และภาชนะต่าง ๆ การควบคุมสัตว์พาหะนำเชื้อ การควบคุมกำจัดของเสีย การตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบการสุขาภิบาลโรงงาน
  5) สถานที่ประกอบการ: สุขลักษณะส่วนบุคคล (Establishment: Personal Hygiene) เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การเจ็บป่วยและบาดเจ็บ อุปนิสัยส่วนบุคคล ข้อกำหนดด้านการแต่งกาย การล้างมือการรับประทานอาหาร รวมทั้งข้อกำหนดของผู้ที่เยี่ยมชมสถานที่ผลิต
  6) การขนส่ง (Transportation) เกี่ยวข้องกับข้อแนะนำในการขนส่ง ข้อกำหนดการออกแบบพาหนะหรือตู้ขนส่ง การตรวจสอบผู้ขนส่ง และการตรวจสอบการขนส่งสินค้า โดยพิจารณาธรรมชาติของอาหารแล้วเลือกใช้วิธีขนส่งที่เหมาะสม ตู้ขนส่งมีความแข็งแรง ทำความสะอาดง่าย มีการควบคุมอุณหภูมิการขนส่ง มีอุปกรณ์บันทึกข้อมูล เป็นต้น
  7) ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภค (Product Information and Consumer Awareness) เกี่ยวข้องกับการกำหนดรุ่นผลิตภัณฑ์ ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ การแสดงฉลาก การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค
  8) การฝึกอบรม (Training) เกี่ยวข้องกับการจัดฝึกอบรมแก่พนักงานผู้เกี่ยวข้องสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบ อบรมเพื่อฟื้นฟูความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงาน การจัดทำแผนการฝึกอบรม
 1.2 เอกสารที่เกี่ยวข้องกับระบบ GMP เช่น
  1) การตรวจรับวัตถุดิบการประเมินผู้ขาย 
  2) การสอบเทียบเครื่องมือ
  3) การควบคุมแก้ว กระจก พลาสติกแข็ง
  4) การเรียกคืนสินค้า
  5) การควบคุมสารเคมี
  6) มาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงาน
  7) การควบคุมน้ำใช้ น้ำแข็ง และไอน้ำ
  8) การกักและปล่อยผลิตภัณฑ์
  9) การทำความสะอาด
  10) การควบคุมสัตว์พาหะนำเชื้อ
  11) การกำจัดขยะ ของเสีย
  12) การซ่อมบำรุง
  13) การทวนสอบ
  14) การควบคุมสุขลักษณะส่วนบุคคล
  15) การขนส่ง การชี้บ่งและสอบกลับได้ของผลิตภัณฑ์
  16) การจัดการกับข้อร้องเรียน
  17) การฝึกอบรม
  18) การควบคุมเอกสารและบันทึก

2.2 การวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม

       การวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Point: HACCP) เป็นแนวคิดของการควบคุมการผลิตที่ประกอบด้วยการวินิจฉัย และประเมินอันตรายของอาหารที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ได้แก่ อันตรายทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค สร้างระบบการควบคุมกระบวนการผลิต เพื่อกำจัดหรือลดสาเหตุที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค HACCP เน้นการป้องกันอันตรายในกระบวนการผลิตมากกว่าการทดสอบผลิตภัณฑ์สุดท้าย

2.3 ประโยชน์ของ HACCP มีทั้งต่อผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรม

    1) ประโยชน์ต่อผู้บริโภค คือ ลดความเสี่ยงในการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัย และเกิด ความมั่นใจ   ในผู้ประกอบการอาหาร (Food Supply)
    2) จัดตั้งทีม HACCP ทีม HACCP เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ สั่งการ มีความรับผิดชอบ เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น ฝ่ายผลิต ฝ่ายควบคุมคุณภาพ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝ่ายบุคคล ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายวิศวกรดูแลเครื่องจักร สาธารณูปโภคที่ใช้ในโรงงาน เป็นต้น ทีมงานต้องได้รับการอบรมระบบ GMP/HACCP
    3) การอธิบายรายละเอียดผลิตภัณฑ์ เป็นการอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมถึง ชื่อผลิตภัณฑ์ คุณลักษณะสำคัญของผลิตภัณฑ์ เช่น ค่า aw pH  ภาชนะบรรจุ อายุการเก็บรักษา ลักษณะการจัดจำหน่าย รายละเอียดที่กำกับบนฉลาก การดูแลรักษาระหว่างขนส่ง
   4) ชี้บ่งวิธีการใช้ ระบุวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มผู้บริโภค
   5) จัดทำแผนภูมิการผลิต ของผลิตภัณฑ์ที่จะจัดตั้งระบบ HACCP ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ ตลอดไปจนถึงการจำหน่ายสู่ผู้บริโภค โดยเขียนตามที่ปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน
   6) การทวนสอบแผนภูมิการผลิต เมื่อจัดทำแผนภูมิการผลิตแล้ว จึงทำการทวนสอบ  โดยเปรียบเทียบแผนภูมิที่เขียนกับการปฏิบัติจริง เพื่อยืนยันว่ามีการผลิตตามแผนภูมิที่เขียนขึ้นจริง และลงชื่อรับรองแผนภูมิ

2.4 หลักการของระบบ HACCP

      1) การวิเคราะห์อันตราย ทำการระบุอันตรายที่มีนัยสำคัญซึ่งส่งผลต่อผู้บริโภค ในทุกขั้นตอนของการผลิต ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการกระสินค้า ประเภทของอันตรายมี 3 ประเภท คือ อันตรายทางกายภาพ เช่น เศษไม้ กรวด/หิน กระดูก พลาสติกแข็ง เป็นต้น อันตรายทางเคมี เช่น สารเคมีจากวัตถุดิบ กระบวนการผลิต สารพิษจากเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น อันตรายทางชีวภาพ  เช่น อันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ พยาธิ เป็นต้น
      2) กำหนดจุดควบคุมวิกฤต (Critical Control Points: CCPs) เป็นขั้นตอนทำงานที่จะสามารถทำการควบคุม เพื่อกำจัดหรือลดโอกาสในการเกิดอันตราย โดยพิจารณาแต่ละขั้นตอนตามแผนภูมิการผลิต  โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญ หรือใช้แผนผังการตัดสินใจ (Decision Tree) เพื่อตัดสินว่าขั้นตอนใดจะเป็น CCP ซึ่ง CCP 1 จุดอาจควบคุมอันตรายได้มากกว่า 1 อย่าง และอันตราย 1 อย่างอาจต้องการ CCP มากกว่า 1 จุดในการควบคุม จุด CCP ของแต่ละโรงงานจะแตกต่างกันแม้ผลิตอาหารชนิดเดียวกัน
      3) กำหนดค่าจำกัดวิกฤต (Critical Limit: CL) ค่าจำกัดวิกฤตเป็นค่าที่กำหนดเฉพาะที่จุด CCP  เป็นค่าที่ต้องควบคุมให้อยู่ภายในเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าจุด CCP อยู่ภายใต้การควบคุม โดยมักกำหนดเป็นค่าเชิงปริมาณ เช่น อุณหภูมิ ความดัน เวลา ความหนา ความชื้น เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ความหนาของชิ้น    ไม่เกิน 2 เซ็นติเมตร อุณหภูมิภายในต้องไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส หรือการบรรยาย เช่น ตะแกรงต้องมีสภาพสมบูรณ์ ไม่ชำรุดฉีกขาด โดยค่าค่าจำกัดวิกฤตได้จากแหล่งที่เชื่อถือได้และมีเอกสารอ้างอิงเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น งานวิจัยต่าง ๆ ข้อบังคับ กฎระเบียบต่าง ๆ หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ การทดลองภายในบริษัท เป็นต้น
      4) กำหนดระบบการเฝ้าระวังติดตาม มีการกำหนดการเฝ้าระวังติดตาม ณ จุด CCP เพื่อให้ค่าจำกัดวิกฤต อยู่ภายใต้การควบคุม ต้องมีการวางแผนการเฝ้าระวังติดตาม วิธีการต้องแม่นยำและให้ผลรวดเร็ว  เช่น แบบต่อเนื่องโดยการติดตามอุณหภูมิ และเวลาด้วยเครื่องอัตโนมัติ แบบเป็นระยะโดยต้องมีการวางแผนระยะเวลาในการตรวจเช็คให้เหมาะสม เพียงพอต่อการควบคุม และต้องมีการบันทึก
     5) กำหนดมาตรการแก้ไข (Corrective Action) เมื่อค่าจำกัดวิกฤตเกิดการเบี่ยงเบนไปจากที่กำหนด จะต้องกำหนดวิธีการแก้ไขเพื่อทำให้ CCP นั้นกลับเข้าสู่การควบคุม ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญคือ วิธีการแก้ปัญหาที่สาเหตุที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบน เช่น การหยุดสายการผลิตเพื่อให้ฝ่ายซ่อมบำรุง  มาตรวจสอบแก้ไข และวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการที่เกิดการเบี่ยงเบน  เช่น นำผลิตภัณฑ์มาทำการผลิตใหม่ หรือทำลายผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา เป็นต้น
     6) กำหนดวิธีการทวนสอบระบบ HACCP เป็นกระบวนการประเมินระบบ HACCP, CCP, CL  ว่าได้รับการควบคุม ติดตามอย่างเพียงพอและได้ผล การทวนสอบเป็นกระบวนการติดตามดูว่าการแก้ปัญหาเมื่อเกิดการเบี่ยงเบน และการจัดเก็บข้อมูลถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
     7) กำหนดระบบเอกสารและบันทึก เอกสารและบันทึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบ HACCP ควรมีระบบการควบคุมและการจัดเก็บเอกสารไว้เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันและตรวจสอบการปฏิบัติงานว่าถูกต้องตามที่กำหนดหรือไม่ เอกสารควรเข้าใจง่าย ใช้งานง่าย ไม่คลุมเครือ ระบบเอกสารและการจัดเก็บมีประสิทธิภาพ อ้างอิงถึงกันได้ ระยะเวลาการเก็บเอกสารและบันทึกต้องไม่น้อยกว่าอายุของผลิตภัณฑ์ หรือตามข้อกำหนดของกฎหมายที่อ้างถึง

3. การดูแลผู้สูงวัย

3.1 การดูแลผู้สูงอายุที่ดี 
        การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าผู้สูงอายุสุขภาพไม่แข็งแรง เจ็บป่วยบ่อย แน่นอนเราในฐานะลูกหลานคงไม่สบายใจ และคงเป็นกังวลอย่างมากกับอาการเหล่านั้นที่เกิดขึ้นกับท่านเราคงไม่อยากเห็นพ่อ แม่ พี่น้องเราไม่มีความสุขในบั้นปลายชีวิต เราควรดูแลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี แข็งแรงตั้งแต่เนิ่น ๆ
ผู้สูงอายุ มักมีปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต เนื่องมาจากการเสื่อมสมรรถภาพของร่างกายตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีสุขภาพดี มีความสุขทั้งกายและจิตใจทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ทั้งนี้บุคคลในครอบครัวมีบทบาทสำคัญมากในการดูแลผู้สูงอายุ ต้องเข้าใจปัญหา เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

3.2 การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีนั้นสำคัญอย่างไร
         เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุหลายคนมักรู้สึกเหนื่อยง่ายและเคลื่อนไหวได้ช้าลง ผู้สูงอายุบางคนอาจรู้สึกอ่อนเพลียและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันลำบากขึ้น อาการเหล่านี้เป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เราเรียกว่าภาวะแบบนี้ว่า ภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ หรือเฟรลตี้ (Frailty) ผู้สูงอายุที่ประสบภาวะนี้จะรู้สึกอ่อนแรง เหนื่อย ไม่มีแรง รวมทั้งน้ำหนักลดลงเอง บุคคลในครอบครัวต้องหมั่นสังเกตว่าญาติผู้ใหญ่ของเราเกิดอาการภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุหรือไม่ จากอาการที่จะยกมากล่าวต่อหลังจากนี้ หากเกิดอาการ 3 อย่างขึ้นไป อาจหมายถึงว่าผู้สูงอายุประสบภาวะดังกล่าวอยู่ ควรให้ความสำคัญเพื่อจะได้มีสุขภาพดีขึ้น
อาการที่อาจจะเกิดได้แก่
     1) รูปร่างผอมลง น้ำหนักตัวลดลงประมาณ 5 กิโลกรัมหรือมากกว่านั้น
     2) เกิดอาการอ่อนเพลีย ยืนเองไม่ค่อยได้หรือไม่มีแรงที่จะถือสิ่งของ
     3) รู้สึกเหนื่อยง่ายมาก ทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ ทำเพียงนิดหน่อยก็จะมีอาการเหนื่อย
     4) สมรรถภาพในการทำกิจกรรมลดลง อาทิ ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยชอบ แต่ทำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน
     5) เดินช้าลง โดยใช้เวลาเดินในระยะทาง 5 เมตร มากกว่า 6-7 วินาที
         อาการภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้การแต่งตัว ตื่นนอนลุกจากเตียง เดินเข้าห้องน้ำ หรือไปเที่ยวได้ลำบาก อีกทั้งอาจหกล้ม       ได้ง่าย ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพทำให้ภาวะดังกล่าวแย่ลงอย่างรวดเร็ว ผู้สูงอายุซึ่งมีแนวโน้มป่วย เป็นโรคซึมเศร้า มักมีโอกาสติดเชื้อ รวมทั้งฟื้นตัวจากอาการป่วยหรือการได้รับบาดเจ็บต่าง ๆ ได้ยาก ฉะนั้นบุคคลในครอบครัวจึงควรดูแลญาติผู้ใหญ่ของตนให้มีสุขภาพดีและถูกต้องตามหลักการดูแลผู้สูงอายุ
3.3 การดูแลผู้สูงอายุ
       การดูแลผู้สูงอายุ มีความจำเป็นและสำคัญมาก เราควรเอาใจใส่ในด้านสุขภาพ  และสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หลักในการดูแลผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ วิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และวิธีจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้สูงอายุวิธีดูแลสุขภาพดีให้ผู้สูงอายุ                การทำงานของร่างกายจะเสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยวิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุประกอบด้วยการดูแลอวัยวะส่วนต่าง ๆ และจัดการเรื่องเข้ารับการตรวจและรักษาปัญหาสุขภาพจากโรงพยาบาลหรือสถานอนามัยที่เชื่อถือได้ดังต่อไปนี้
 3.3.1 ดูแลสุขภาพดวงตา
   1) ลูกหลาน ควรพาผู้สูงอายุเข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตาหรือวัดสายตา เพื่อตัดแว่นสายตาที่เหมาะสม รวมทั้งตรวจดูว่าผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพตาหรือไม่ เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไปในกรณีที่ดวงตาผิดปกติ
  2) ไม่ควรให้ผู้สูงอายุสูบบุหรี่ รวมทั้งไม่สูบบุหรี่เมื่ออยู่ใกล้ผู้สูงอายุ เนื่องจากจะทำให้เสี่ยงเกิดจอตาเสื่อมหรือต้อกระจกได้
  3) เตรียมผักและผลไม้ในแต่ละมื้ออาหารให้ผู้สูงอายุรับประทานอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
  4) เมื่อต้องออกแดดจ้าควรเตรียมแว่นกันแดดให้ผู้สูงอายุได้สวมใส่เพื่อถนอมสายตา
 3.3.2 ดูแลการได้ยิน
  ดูแลให้ผู้สูงอายุเข้ารับตรวจเกี่ยวกับการได้ยิน ภาวะสูญเสียการได้ยินนับเป็นปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะค่อย ๆ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว การสูญเสียการได้ยินส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้ฟัง หรือปฏิบัติตามคำแนะนำที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา ลูกหลานควรพาผู้สูงอายุไปตรวจเกี่ยวกับการได้ยิน เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยหาสาเหตุของการไม่ได้ยิน และเข้ารับ การรักษาได้อย่างถูกต้องทันท่วงที
 3.3.3 ดูแลสุขภาพช่องปาก
  1) ผู้สูงอายุ ควรลดปริมาณอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล รวมทั้งเลี่ยงรับประทานอาหารประเภทนี้นี้ก่อนเข้านอน เพราะน้ำตาลอาจเกิดการสะสมและกลายเป็นแป้งอยู่ในช่องปากและฟัน ทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพปากและฟันเกิดขึ้น
  2) ดูแลผู้สูงอายุให้แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ
  3) ผู้สูงอายุ ควรบ้วนน้ำลายหลังแปรงฟันทุกครั้ง โดยไม่ต้องบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากทันทีที่แปรงฟันเสร็จ เนื่องจากน้ำยาบ้วนปากอาจล้างฤทธิ์ฟลูออไรด์ของยาสีฟัน
  4) ดูแลผู้สูงอายุ ไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป รวมทั้งให้งดสูบบุหรี่ เนื่องจากทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็งช่องปาก และมะเร็งบางชนิดมากขึ้น
  5) หมั่นให้จิบน้ำบ่อย ๆ อมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่ผสมน้ำตาล หรืออมน้ำแข็งก้อนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันปากแห้ง
 3.3.4 ดูแลสุขภาพเท้า
  1) หมั่นล้างเท้าให้สะอาดทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ เนื่องจากสิ่งสกปรกที่ติดตามผิวหนัง อาจทำให้ระคายเคืองและติดเชื้อ ทั้งนี้ ควรเป่าเท้าและระหว่างนิ้วเท้าให้แห้งเพื่อป้องกันฮ่องกงฟุต
  2) ทาครีมบำรุงเท้า เพื่อลดอาการหยาบกร้านของผิวหนัง โดยเลือกใช้ครีมสำหรับทาเท้าโดยเฉพาะ
  3) หมั่นดูแลเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้เดินได้สะดวก
  4) เมื่อตัดเล็บ ควรเล็มเล็บเท้าตรง ๆ ไม่ตัดเป็นมุม เนื่องจากอาจทำให้เล็บฝังอยู่ในเนื้อเท้า
  5) ควรดูแลเท้าให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยอาจสวมถุงเท้าตอนนอน
  6) ผู้สูงอายุควรเลี่ยงสวมรองเท้าที่แน่นเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเท้าไม่ได้ ทำให้เกิดตะคริวและชาที่เท้า
  7) ผู้สูงอายุควรเลือกใช้รองเท้าที่ทำจากวัสดุหนังแบบนุ่มหรือมีความยืดหยุ่น เพื่อความสบาย คล่องตัว และควรเลือกรองเท้าที่สามารถระบายอากาศได้ดีป้องกันการอับชื้น
 3.3.5 ดูแลสมอง
  1) ผู้สูงอายุควรได้รับอาหารที่ดีและมีสารอาหารครบถ้วนให้รับประทาน ทั้งยังต้องรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  2) ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพดีและแข็งแรง
  3) ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มมากเกินไป
  4) ผู้สูงอายุควรหมั่นตรวจเช็คสัญญาณชีพ ชีพจรการเต้นของหัวใจ และดูแลความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  5) จัดการให้ผู้สูงอายุนอนหลับอย่างเพียงพอ
  6) หมั่นพูดคุยหรือพาผู้สูงอายุไปเที่ยวเพื่อสร้างความผ่อนคลาย หากิจกรรมเสริมสร้างทักษะให้ได้ใช้สมองเพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ หรือมีกิจกรรมใหม่ๆตามสมควร
 3.3.6 ดูแลสุขภาพจิต
  1) ชวนผู้สูงอายุพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ หรือติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์ในกรณีที่ไม่ได้เจอกัน
  2) สอนให้ผู้สูงอายุใช้งานอินเทอร์เน็ต และ social media เพื่อให้ท่านได้ทำกิจกรรมใหม่ ๆในยามว่างที่ไม่ได้ออกไปข้างนอก ทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ ให้ผู้สูงอายุได้มีสุขภาพดีทั้งกายใจ
  3) เข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมหรือชุมชน เพื่อทำกิจกรรมและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น
  4) วางแผนทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ท่านไม่เหงาและเกิดภาวะเครียด
 3.3.7 กระตุ้นให้เคลื่อนไหวร่างกาย
  1) พาผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคกระดูกผุ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมทั้งเสริมสร้างการนอนหลับ อารมณ์ และความจำ
  2) กระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น ประมาณครั้งละ 30 นาที โดยเลือกกิจกรรมให้เหมาะสม เช่น เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ฝึกออกกำลังกายอย่างง่าย โดยใช้เก้าอี้ช่วย
  3) ลองให้ผู้สูงอายุถือของเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างตามสมควร
  4) ชวนทำสวน ทำกิจกรรมเข้าจังหวะอื่น ๆ หรือกิจกรรมที่กระตุ้นการเดิน ขยับเขยื้อนร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดี
 8. ดูแลปัญหาสุขภาพการปัสสาวะและขับถ่าย
  1) ดูแลให้ดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอ เนื่องจากอาการเกี่ยวกับปัสสาวะจะกำเริบได้หากดื่มน้ำน้อย
  2) ลดปริมาณการดื่มชา กาแฟ โคล่า หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนและน้ำตาลที่เยอะจนเกินควร
  3) ตรวจดูว่ายารักษาโรคที่ใช้อยู่ส่งผลต่อการขับปัสสาวะของผู้สูงอายุหรือไม่

3.4 วิธีจัดสภาพแวดล้อมสำหรับผู้สูงอายุ

       สภาพแวดล้อมคือปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุย่อมเกิดความปลอดภัยเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด ไม่ระเกะระกะ ลดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุได้ และยังเอื้อต่อการใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดีแก่ผู้อยู่อาศัย วิธีจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้สูงอายุควรปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
 1) จัดบ้านให้ปลอดภัย สะอาดสะอ้าน อากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดส่องเข้าถึงเพื่อไม่อับชื้น
 2) ติดเครื่องส่งเสียงหรือสัญญาณเตือนภัยในกรณีที่ผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพังบ่อย ๆ
 3) ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟไว้ตามทางเดิน ห้องนั่งเล่น และห้องครัว หรือบ้านที่ติดตั้งเตาแก๊สควรติดตั้งเครื่องจับควันและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ รวมทั้งทดสอบการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุ
 4) เลือกวัสดุสำหรับปูพื้นในห้องน้ำที่ไม่ทำให้ลื่นง่าย และควรทำราวจับไว้ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุเดินได้สะดวกขึ้นและไม่หกล้ม
 5) เก็บของให้เป็นระเบียบ ทำความสะอาด กวาดพื้นให้เรียบร้อย ไม่ทิ้งไว้ตามทางเดิน
 6) ติดตั้งโคมไฟที่เปิด-ปิดอัตโนมัติใช้งานตอนกลางคืน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมองเห็นเส้นทาง และเดินเข้าห้องน้ำหรือขึ้นลงบันไดได้อย่างสะดวกสบาย
 7) ม้วนสายไฟเก็บให้เรียบร้อย รวมทั้งตรวจสอบความชำรุดของเต้าเสียบและสายไฟอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าชำรุด ควรเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ป้องกันการเกิดอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ
 8) ควรให้ผู้สูงอายุสวมรองเท้าสำหรับใส่เดินภายในบ้าน ไม่ควรให้สวมถุงเท้าเดินหรือเดินเท้าเปล่า
 9) เสื้อผ้าที่ผู้สูงอายุสวมใส่ควรรัดกุม ไม่รุ่มร่าม เพื่อป้องกันเดินสะดุดหกล้ม

3.5 จัดโภชนาการที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ
1) ผู้สูงอายุควรรับประทานผักและผลไม้ให้ได้วันละ 5 ส่วน โดยเลือกผักและผลไม้สดสะอาด
2) ดูแลให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำระหว่างวัน
3) จัดอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา ที่สามารถย่อยได้ง่ายให้รับประทานในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
4) ควรดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับวิตามินดีอย่างพอเพียง อาทิเช่น รับแสงแดด ให้รับประทานอาหารเสริม เพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสุขภาพดี
5) ลองให้ผู้สูงอายุรับประทานเครื่องดื่มพลังงานสูง อาทิเช่น นม และ Milk Shake หรือเครื่องดื่ม Smoothie(หวานน้อย) เพื่อป้องกันภาวะน้ำหนักตัวลดลง

ปัญหาและวิธีรับมือการดูแลผู้สูงอายุ

ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุไม่ชอบให้ผู้ใกล้ชิดดูแลตนเอง เพราะอาจรู้สึกไม่ดีที่ต้องมาเป็นภาระให้สมาชิก                ในครอบครัว แถมยังต้องคอยช่วยเหลือในกิจกรรมสำหรับชีวิตประจำวันต่าง ๆ ผู้สูงอายุบางรายมีความกังวลเรื่องสูญเสียความเป็นส่วนตัวและต้องปรับการดำเนินชีวิตใหม่ที่ไม่คุ้นเคย บางคนมักมีความเป็นตัวของตัวเองและวิตกว่าตนเองจะกลายเป็นคนอ่อนแอที่ต้องยอมให้คนในครอบครัวมาดูแล
ผู้สูงอายุบางท่านกังวลกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องเสียเพิ่มสำหรับดูแลตนเอง ที่สำคัญ ผู้สูงอายุที่ขี้ลืมมักไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องได้รับการดูแล สาเหตุเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหา สมาชิกในครอบครัวและลูกหลานควรทำความเข้าใจ เรียนรู้วิธีรับมือ และแก้ปัญหานี้ให้ถูกต้อง อาทิเช่น พิจารณาว่าผู้สูงอายุนั้นจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด้านใดบ้าง รวมทั้งหาวิธีดูแลที่เหมาะสม ควรหาโอกาสพูดคุยกับผู้สูงอายุ โดยเลือกเวลาที่ทั้งสองฝ่ายรู้สึกผ่อนคลายและพร้อมจะพูดคุยกัน ซึ่งจะช่วยให้เปิดใจและเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น

4.หลักการของการพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชน

4.1 ความหมายของการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community - Based Tourism)
 การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมของชุมชน กำหนด ทิศทางโดยชุมชน จัดการโดยชุมชน เพื่อชุมชน และชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของในการจัดการ ดูแล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน
4.2 องค์ประกอบของการท่องเที่ยวโดยชุมชน มี 7 องค์ประกอบ
 4.2.1 มีองค์กร/กลไก ในการบริหารจัดการท่องเที่ยว
  1) มีองค์กร/กลไก ที่เกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชน เพื่อเป็นแกนนำในการบริหารจัดการท่องเที่ยว
  2) การมีส่วนร่วมของสมาชิกและชุมชนในการพัฒนาการท่องเที่ยว
 4.2.2 มีระบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
  1) มีระบบบริหารจัดการท่องเที่ยวของชุมชน และกฎกติกาที่ใช้ในการบริหารการท่องเที่ยว และสามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านอื่น ๆ ของชุมชน
  2) การเสริมศักยภาพของคนในกลุ่มท่องเที่ยวและชุมชน
  3) การปฏิบัติตามกฎระเบียบและรูปแบบที่ใช้สำหรับบริหารจัดการท่องเที่ยวของชุมช
  4) การตลาดและประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นกับชุมชนอย่างยั่งยืน
 4.2.3 สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน
  1) สนับสนุนการพัฒนาชุมชน
  2) กระจายรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวชุมชนอย่างเป็นธรรมและสร้างโอกาสในการมีรายได้เสริม
 4.2.4 ส่งเสริมวัฒนธรรมของชุมชน
  1) กลุ่มท่องเที่ยวมีข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมในท้องถิ่น
  2) มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากภายในสู่คนภายนอก
  3) มีกฎ กติกา และแนวทางเพื่อเคารพและปกป้องวัฒนธรรมชุมชน
  4) กลุ่มท่องเที่ยวมีการส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบทอดวัฒนธรรม
 4.2.5 มีส่วนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน
  1) กลุ่มท่องเที่ยวมีข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2) มีการออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวที่คำนึงถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
  3) จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
  4) มีการป้องกัน จัดการ และแก้ไขปัญหามลภาวะ
 4.2.6 สร้างการเรียนรู้
  1) กิจกรรมการท่องเที่ยวสามารถสร้างการเรียนรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนให้แก่ผู้มาเยือน
  2) สร้างจิตสำนึกและองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ทั้งคนในชุมชนและผู้มาเยือน
 4.2.7 มีการบริการที่ดีและปลอดภัย ทั้งด้านที่พัก ยานพาหนะ นักสื่อความหมายท้องถิ่น เจ้าของบ้าน และการประสานงานที่ดีระหว่างกลุ่มในชุมชนเพื่อให้บริการ

4.3 ประโยชน์ที่ชุมชนได้รับจากการท่องเที่ยวโดยชุมชน

          1) การท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนความอยู่รอดของชุมชนขึ้นอยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน คนในชุมชนมีความเชื่อมโยงผูกพันกับทรัพยากร ดิน น้ำป่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน สร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชนในการเผยแพร่ภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากร สร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยวให้ผู้มาเยือนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สร้างความร่วมมือของหน่วยงานในการทำงานเป็นพันธมิตรร่วมกับชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
         2) การท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนสนับสนุนการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่บอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นชุมชน ความเข้มแข็งของชุมชนจะทำให้ชุมชนสามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมโดยที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมและประยุกต์ให้สอดคล้องกับยุคสมัย มีการสืบทอดสู่คนรุ่นหลังได้อย่างต่อเนื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชนในการนำเสนอ “ของดี” ชุมชนให้คนภายนอกได้รับรู้ ทำให้เกิดการสืบค้น ถ่ายทอด และฟื้นฟูวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ชุมชนมีการบริหารจัดการและร่วมกันกำหนดว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอะไรบ้างที่ชุมชนพร้อมในการนำเสนอและสร้างการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน ตลอดจนมีแนวทางปฏิบัติตัวสำหรับนักท่องเที่ยว การที่มีนักท่องเที่ยวสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมคน ท้องถิ่น เป็นตัวกระตุ้นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจ และมีชีวิตชีวาในการนำเสนอข้อมูล สามารถสร้างการมีส่วนร่วมให้กับนักท่องเที่ยวในกิจกรรมทางวัฒนธรรมของตน ทำให้เยาวชนคนรุ่นหลังเห็นคุณค่าของชุมชนตนเอง
         3) การท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาคนความภาคภูมิใจในความเป็นท้องถิ่น หรือชาติพันธุ์ความร่วมมือและความสามัคคีของคนในชุมชน การมีพื้นที่ทางสังคม ได้รับการยอมรับจากคนภายนอก เป็นหัวใจสำคัญของการดำรงไว้ซึ่งความเป็นชุมชน การท่องเที่ยวโดยชุมชนช่วยให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมและกำหนดบทบาทของชุมชนต่อการท่องเที่ยว มีกระบวนการในการจัดการความรู้ภายในชุมชน สร้างระบบในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวภายในชุมชนโดยชุมชนเอง มีการพัฒนาทักษะและเพิ่มเติมความรู้ใหม่ให้กับสมาชิกในชุมชนในการบริหารจัดการท่องเที่ยว ให้คนในชุมชนมีความเชื่อมั่นในการนำเสนอปัญหาและความต้องการกับหน่วยงานภายนอก นำเสนอประสบการณ์และความสำเร็จในการพัฒนากับคนและหน่วยงานที่มาศึกษา-ดูงานนอกจากเป็นการพัฒนา “คนใน” แล้วยังให้การศึกษากับ “คนนอก” ด้วย
         4) การท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนและคุณภาพชีวิตคนท้องถิ่นการท่องเที่ยวเป็นการดึงคนจากภายนอกมาเรียนรู้ชุมชน แรงจูงใจที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนคือ วิถีชีวิตที่แตกต่าง วัฒนธรรมดั้งเดิม และแหล่งท่องเที่ยวที่มีความอุดมสมบูรณ์ จุดดึงดูด คือ วิถีชีวิตที่เรียบง่ายและมีการดำรงชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติการท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงเป็นรายได้เสริมที่สามารถนำรายได้นั้นไปดำรงชีพ โดยที่คนในชุมชนยังคงดำเนินวิถีดั้งเดิมหรือเป็นการสร้างทางเลือกเรื่องรายได้ให้กับบางครอบครัว ในการสร้างอาชีพเสริมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว สร้างงานให้กับคนในชุมชนการท่องเที่ยวโดยชุมชน จัดสรรรายได้จากการท่องเที่ยวสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาชุมชนและสาธารณประโยชน์

5. การพัฒนาระบบการตลาดออนไลน์

         การตลาดออนไลน์ (Online Marketing) คือ การทำการตลาดในสื่อออนไลน์ เช่น โฆษณา Facebook, โฆษณา Google, โฆษณา YouTube, โฆษณา Instagram ฯลฯ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำให้สินค้าของเราเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น โดยใช้วิธีต่าง ๆ ในการโฆษณาเว็บไซต์ หรือโฆษณาขายสินค้าที่จะนำสินค้าของเราไปเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ เพื่อให้ผู้อื่นได้รับรู้และเกิดความสนใจ จนกระทั่งเข้ามาใช้บริการหรือซื้อสินค้าของเราในที่สุด
การตลาด หมายถึง เกิดขึ้นเพราะมนุษย์รู้จักการแลกเปลี่ยน การที่เราจะได้รับความพึงพอใจ ในการแลกเปลี่ยนใด ๆ เราต้องเป็นผู้ที่สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ผู้ที่เรามุ่งจะแลกเปลี่ยน โดยคำว่าสูงสุด หมายถึงเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ ทั้งหมด เมื่อกลุ่มเป้าหมายประเมินว่า เราสามารถสร้างความพึงพอใจให้เขาได้สูงสุด เขาก็ย่อมเลือกเรา หรือยอมจ่ายสิ่งแลกเปลี่ยนให้เราเหนือกว่ารายอื่น
            คำจำกัดของคำว่า Marketing สมาคมการตลาดแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำจำกัดของคำว่า Marketing ไว้ดังนี้ การตลาด คือ การกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ในทางธุรกิจที่มีผลให้เกิดการนำสินค้า   หรือบริการจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการนั้น ๆ ให้ได้รับความพึงพอใจ ขณะเดียวกัน ก็บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ

5.1 องค์ประกอบของการตลาด

1) มีสิ่งที่จะโอนเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ คือ สินค้าหรือบริการ
2) มีตลาด คือ ผู้ชื้อที่ต้องการซื้อสินค้าหรือบริการ
3) มีผู้ขายสินค้าหรือบริการ 
4) มีการแลกเปลี่ยน

5.2 ช่องทางการทำตลาดออนไลน์
      ลงโฆษณากับ Google AdWordsบริการของ Google AdWords อยู่ในรูปแบบของ PPC (Pay Per Click) หรือ การจ่ายเงินเมื่อมีการคลิกเข้าไปดูโฆษณาของเราเท่านั้น ถ้าไม่มีคนคลิกโฆษณาเราก็ไม่เสียเงิน ทำให้ผู้ที่คลิกเข้าไปนั้น ต้องสนใจสินค้าหรือบริการของเรา ถึงจะอ่านข้อความโฆษณาของเรา แล้วคลิกเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ โฆษณาจะขึ้นแสดงอยู่ทางด้านบนของผลการค้นหา หรือที่เรียกว่า Sponsor Link (Link ของผู้สนับสนุน) ในปัจจุบัน Google AdWords สามารถ เข้าถึงกลุ่มลูกแต่ละจังหวัดได้แล้ว เราสามารถกำหนดการแสดงผลของโฆษณาให้อยู่ที่ กรุงเทพ หรือ เชียงใหม่ ได้อีกทั้งยังสามารถกำหนดเวลาการแสดงผลได้ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีสุด ๆ

5.3 แบนเนอร์ (Banner)

ลงโฆษณาโดยใช้ Banner ไปลงโฆษณาตามเว็บต่าง ๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมายของเรา เช่น เว็บที่คุย              เรื่องการตลาดออนไลน์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน นิยมลง Banner เพื่อใช้งานกับเว็บเฉพาะทาง เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจาก Banner จะมีผลการตอบรับ (การคลิก) ที่น้อยกว่าโฆษณาแบบ Search เช่น ลงโฆษณาในเว็บไซต์ แต่งงาน รถยนต์มือสอง บ้านเช่า ฯลฯ

5.4 สื่อสังคมออนไลน์ (Social Network)

        การทำการตลาดรูปแบบของ Social Network ปัจจุบันการทำโฆษณาในลักษณะนี้ สามารถเข้าถึงผู้คนได้หลากหลาย Social Network ก็คือ สังคมออนไลน์ เช่น Twitter, Facebook, Instagram, Pantip, YouTube และอื่น ๆ โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การทำโฆษณาลักษณะนี้นิยมใช้ในการสร้างแบรนเนม เพราะอิทธิพลของ Social Network จะทำให้เกิดการบอกกันปากต่อปาก เราเรียกว่า Viral Marketing หรือ การตลาดที่แพร่หลายเหมือนไวรัส ซึ่งจะทำให้มีคนรู้จักหรือพบเห็นบริการของเราได้หลาย ๆ ครั้ง
1) Facebook เป็นเครื่องมือการตลาด Social Marketing ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะธุรกิจ   ขนาดเล็ก สามารถสร้าง Facebook Page โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งสามารถ ลงโฆษณากับ Facebookที่จะช่วยเพิ่มยอดคนเข้าถึง Page หรือ Website ได้อย่างอย่างดี ในงบประมาณที่ไม่แพง
2) Web Marketing (ทำเว็บไซต์เอง) การสร้าง Blog จากของฟรี ๆ อย่างเช่น Blogger  (ของ Google) เป็นระบบที่สามารถติดต่อกันระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านผ่านระบบ Comment จึงสามารถเกิดสังคมออนไลน์ขนาดย่อมได้ เราอาจจะเขียนเรื่องที่ตัวเองสนใจและใส่ Banner โฆษณาลงไปใน Blog                 ก็เป็นหนทางที่ดีไม่ใช่น้อยเลยที่จะสามารถทำการตลาดได้
3) Video Marketing การเผยแพร่กิจกรรมต่าง ที่จะนำเสนอในรูปแบบของไฟล์วีดีโอ ผ่านทาง Internet แผนการตลาดผ่าน YouTube จุดมุ่งหมาย คือ อิมเมจ ภาพลักษณ์ และ แบรนด์สินค้า (บริการ) ทุกวันนี้มีเครื่องมือในการสร้างวีดีโอได้ฟรีอยู่เยอะมาก คุณสามารถสร้างวีดีโอ แนะนำบริการ สินค้า ได้อย่างง่าย เสร็จแล้วก็ไปอัปโหลดขึ้น YouTube ถ้าวีดีโอเจ๋งมาก อาจจะสร้างให้เกิดยอดขายได้
4) Email Marketing คนส่วนใหญ่มีความเชื่อผิดๆ ว่า Email Marketing เป็น Spam Email แต่จริง ๆ แล้ว Email Marketing ไม่เกี่ยวกับ Spam Email อาจจะส่งข่าวสารให้ ลูกค้าที่เคยซื้อสินค้า หรือสมาชิกในเว็บไซต์ ซึ่งเป็นการสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าระยะยาวให้ลูกค้าไม่ลืม และที่สำคัญ Email เป็นช่องทางง่าย และแทบไม่ใช้งบประมาณเลย
5) Email เป็นช่องทางง่ายและได้ผล ที่ใช้งบการทำการตลาดต่ำ จนคนส่วนใหญ่มักจะไม่สนใจรีบกลับมาสนใจช่องทาง Email วันนี้ คุณสามารถส่งข่าวประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่ลูกค้า เพื่อให้ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักเว็บไซต์ และที่สำคัญให้ใช้ Email เป็นช่องทางในการติดต่อกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีสินค้าใหม่ ๆ หรือโปรโมชั่นหรืออะไรที่อยากจะบอกลูกค้า
6) Electronic Direct Mail เรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า E-Newsletter การส่งอีเมล์เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า โปรโมชั่น หรือกิจกรรม ข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไปยังผู้รับ ซึ่งได้ลงทะเบียนรับข่าวสารไว้กับทางเว็บไซต์ เป็นการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงด้วยฐานข้อมูลสมาชิกที่สนใจในบริการนั้น ๆ อยู่แล้ว ซึ่งต่างไปจากการใช้บริการเช่ารายชื่ออีเมล Rented Email List เพื่อส่งอีเมลไปยังผู้ที่ไม่เคยสนใจสินค้าเรามาก่อน จึงมักจะมีผลตอบรับไม่ค่อยดี
7) Post ฟรี ลงประกาศฟรี การไปขอลงประกาศตามเว็บไซต์ที่เปิดให้สามารถลงประกาศได้ฟรี อย่างเช่นเว็บ PantipMarket หรือ Kaidee เหล่านี้ เราสามารถนำสินค้าหรือบริการไปลงประกาศตามหมวดหมู่ได้ ในประเทศไทยมีหลายเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการ โพสต์ประกาศลงสินค้าฟรี ที่โด่งดังที่สุดคือ Kaidee โดยเรามี List รายชื่อ Website ลงประกาศฟรี (สินค้าทั่วไป) ให้ดังนี้
   - https://www.kaidee.com
   - https://www.pantipmarket.com
   - https://market.onlineoops.com
   - http://market.thaiza.com
   - http://www.thaio.com
   - http://www.assetpost.com
   - http://www.toclassified.com
8) ทำ Affiliate Program Affiliate คือ การหาลูกค้าให้กับทางเว็บแล้วได้ค่าคอมมิชชั่น เช่น จัดทำเว็บแล้วขายโปรแกรมทัวร์ต่าง ๆ ผ่านทางเว็บของผู้จัดทำ การทำการตลาดออนไลน์ผ่านตัวแทนโฆษณาที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ เมื่อตัวแทนสามารถทำให้คนเข้าเว็บไซต์เรา และสมัครสมาชิกหรือซื้อสินค้า หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ตกลงกันไว้ ก็จะได้รับค่าคอมมิชชั่น นับเป็นการลงทุนที่สมเหตุสมผล เพราะหากไม่มีคนเข้ามาก็ไม่ต้องเสียอะไร แต่หากมีคนเข้ามาย่อมได้ประโยชน์เกินกว่าค่าคอมมิชชั่นที่จ่ายให้ตัวแทนอยู่แล้ว
9) การทำ Search Engine Optimization (SEO) SEO คือ การทำให้เว็บเราแสดงผลต้น ๆ (หน้าแรก) ในการแสดงผลในการค้นหา เช่น ถ้าเราทำคีย์ รับติดตั้งกล้องวงจรปิด เมื่อเราคีย์คำว่ารับติดตั้งกล้องวงจรปิด ในช่องแสดงผลการค้นหา เราจะต้องเจอเว็บไซต์ของเราใน 10 ลำดับแรกของการค้นหา ก็จะถือว่าการทำ SEO ประสบผลสำเร็จ ข้อดีคือประหยัด แสดงผลได้ยาว ข้อเสียคือช้า เพราะต้องวิเคราะห์คีย์ ใช้เวลาในการทำอันดับ มีขั้นตอนหลายอย่างในการทำ (SEO)
10) SMS Marketing บริการทำการตลาดด้วย SMS โดยคุณสามารถส่ง SMS Online จากระบบผ่านเว็บไซต์ ไปยัง โทรศัพท์มือถือ ได้อย่างง่ายดาย และ รวดเร็ว ทันใจ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทันที โดยจะมั่นใจได้ว่า SMS ส่งถึงผู้รับ 100% ช่วยให้คุณทำธุรกิจ ให้ก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีระบบการส่ง SMS ผ่านหน้าเว็บไซต์ โดยการส่ง SMS เป็น เครื่องมือการตลาดที่จะช่วยเพิ่ม ความสะดวก รวดเร็ว อีกทั้งยัง ประหยัดเงิน และเวลา ในการติดต่อสื่อสาร

5.5 การเป็นนักตลาดออนไลน์ที่ดี

     นักการตลาดมืออาชีพ หรือเจ้าของธุรกิจที่ต้องการทำตลาดออนไลน์ด้วยตัวเอง บางคนอาจมีไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา บางคนต้องฝึกฝนจนกว่าจะเก่ง สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องมีเหมือนๆ กันคือ ความเป็นมืออาชีพ สวมวิญญาณนักการตลาดออนไลน์ มาดูลักษณะที่จำเป็นต้องมีในการทำตลาดออนไลน์รู้จักการผสมนั่นผสมนี่การตลาดออนไลน์ก็เปรียบเหมือนกับภาพปริศนาชิ้นใหญ่ ที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะ การทำ SEO, การใช้คีย์เวิร์ด, link-building รวมถึงเทคนิคต่างๆ และรู้จักการใช้ Social media อย่างเข้มข้น ทุกอย่างต้องใช้ประสบการณ์ ซึ่งนักการตลาดออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จ จะต้องผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน เมื่อเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันได้แล้ว ก็มีโอกาสที่การทำการตลาดจะประสบความสำเร็จ
1) อดทน การทำตลาดออนไลน์ในปัจจุบันอาจดูรวดเร็ว วันสองวันก็เห็นผลตอบรับ แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณี แม้ว่าแคมเปญอาจไม่เห็นผลใน 1 เดือน ก็ต้องพร้อมที่จะทำงานอย่างต่อเนื่อง มุ่งสู่เป้าหมายโดยไม่สูญเสียความตั้งใจ บางครั้งผลตอบรับในระยะสั้น ก็อาจทำให้เราหมดกำลังใจได้ง่าย แต่ถ้าอดทน ผลลัพธ์ก็จะคุ้มค่ากับการรอคอย
2) ไม่หยุดเรียนรู้ การทำ SEO, Google AdWords และยังมี Social Media ที่เกิดใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ ทุกอย่างล้วนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ ติดตามข่าวสารในแวดวงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานสัมมนา และสร้างสัมพันธ์กับคนในวงการเดียวกัน
3) ต้องน่าเชื่อถือ แม้จะมีความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว ก็ต้องมีมากกว่าเดิม เพื่อให้สื่อสารสิ่งต่าง ๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น สำหรับการทำตลาดออนไลน์ ความน่าเชื่อถือจะอยู่ที่การถูกพูดถึง ถ้าโดนตำหนิ หรือพบข้อผิดพลาด ก็ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน
4) สามารถควบคุมทุกอย่างได้ นักการตลาดออนไลน์ส่วนใหญ่มักจะว่าจ้างหน่วยงานภายนอก  หรือฟรีแลนซ์ เพื่อให้พวกเขาทำงานบางอย่างให้ เพราะมันเป็นเรื่องยากที่คน ๆ เดียวจะเก่งทุกอย่าง อาทิ  การเขียน การสื่อสาร การใช้ Social Media, การทำ SEO ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ทำให้นักการตลาดต้องมีทักษะ           การบริหารจัดการเพื่อนร่วมงาน รวมถึงต้องรู้จักสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นคนรอบข้างให้มีกำลังใจทำงานจนเสร็จได้
5) ดูแลลูกค้าในระยะยาว หน้าที่สำคัญของนักการตลาด คือ การสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าด้วยการวางแผนและสร้างกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับแบรนด์ พวกเขาจะลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่พูดเรื่อยเปื่อย ยิ่งผลของการลงโฆษณาประสบความสำเร็จมากเพียงใด ลูกค้าก็จะรู้สึกดีมากขึ้นเท่านั้น นักการตลาดออนไลน์จึงต้องรู้จักสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว ตอบสนองให้มากกว่าที่ต้องการ เพราะสุดท้ายแล้วความสัมพันธ์ของคุณกับลูกค้าตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ
6) เป็นนักสื่อสารที่ดี การสื่อสาร ถือเป็นทักษะที่นักการตลาดออนไลน์ทุกคนควรมี ซึ่งทักษะการสื่อสารนี้ไม่ได้หมายถึงการเขียน หรือการพูด แต่หมายถึง การมีความเป็นมืออาชีพ ต้องถ่ายทอดความคิด ให้ลูกค้าและทีมเห็นภาพ นอกจากนี้ ทักษะเรื่องการฟังก็สำคัญเช่นกัน การรับฟังมุมมอง และความคิดจากคนอื่นจะช่วยให้คุณพัฒนาตัวเองได้มาก
7) ทำให้เกิดขึ้นจริง ถ้าให้อธิบายความฝันหลาย ๆ คนคงเล่าได้เป็นฉาก ๆ แต่ถามว่ามันเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ตราบใดที่ทำงานอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ทักษะ ความรู้ การคิดวิเคราะห์ ก็ยังเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จอยู่ บางคนอาจชอบวางแผน แต่กลับไม่สามารถนำมาทำจริงได้ หรือทำไปครึ่งนึงแล้วก็ไปต่อไม่ได้ แบบนี้ก็จะเสียพลังงานไปเปล่า ๆ
8) มีเทคนิคในการเล่าเรื่อง ทุกวันนี้การทำตลาดไม่ได้ง่ายเหมือนก่อน ยิ่งผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากเท่าไร การทำงานก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าแบรนด์จะสื่อสารอะไรไป ผู้บริโภคก็ยังไม่ปักใจเชื่อทันที หน้าที่ของนักการตลาดออนไลน์คือ สร้างกลยุทธ์ Storytelling ที่ใช้การเล่าเรื่องเหมือนนิทาน ที่มีการเรียงร้อยเรื่องราวต่าง ๆ และสร้างอารมณ์ให้เกิดความสนใจ พยายามทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ให้ได้
9) ต้องรู้จักใจเย็น ๆ เหมือนสุภาษิตที่ว่า “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” หมายถึง การทำอะไรด้วยความรอบคอบ ไม่ต้องรีบร้อน ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ เก็บรายละเอียดไปทีละนิด การทำตลาดออนไลน์ก็เช่นกัน ตอนแรกคุณอาจกำหนดเป้าหมายระยะยาวไปแล้ว แต่เมื่อเห็นเทรนด์ หรือกระแสมาแรงใหม่ๆ ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนเป้าหมายทันที ซึ่งบางครั้งกระแสเหล่านี้ก็ไม่เกี่ยวกับแบรนด์ ก็ไม่จำเป็นต้องหยิบมาใช้

5.6 ทำไมจึงต้องทำการตลาดออนไลน์

       เพราะในปัจจุบันโลกออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น โดยมีการใช้งานผ่านทางมือถือ คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ตเป็นหลัก ทั้งยังมีการซื้อขายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น การขายสินค้าออนไลน์จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก และการทำการตลาดก็ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญต่อบริษัท            และเหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จะขาดไม่ได้เลยทีเดียว นั่นเพราะ
1) เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย การทำการตลาดออนไลน์จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำยอดขายให้สูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะทำในรูปของคอนเทนต์ที่สามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้ดี โดยจะสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ เกี่ยวข้องกับสินค้าและเป็นเนื้อหาที่คนสนใจอ่านมากที่สุด รวมถึงมีการทำ Search Engine Marketing เพื่อเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยตรงด้วย
2) ลูกค้าจะเข้ามาหาเอง การทำการตลาดออนไลน์ต่างจากการทำการตลาดแบบทั่วไป ที่เป็นการดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาหาผู้ขายเอง ด้วยการให้ข้อมูลสินค้าที่ตรงจุดและตรงกับความต้องการของลูกค้า จึงทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจและเข้ามาติดต่อเพื่อซื้อสินค้าด้วยตนเอง โดยที่ผู้ขายไม่จำเป็นต้องพยายามยัดเยียด บริการให้กับลูกค้าเลย
3) เข้าถึงได้สะดวกจากทุกที่ สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่และทุกเวลาเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมต่อเท่านั้น และยังเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างแพร่หลายทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งก็เป็นการทำการตลาดที่สร้างความสะดวกสบายให้กับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อได้ดี
4) ตรวจสอบประสิทธิภาพ การทำการตลาดออนไลน์สามารถทำการตรวจสอบประสิทธิภาพ และตรวจเช็คถึงลูกค้าที่เข้ามาชมได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบช่องทางที่ลูกค้าเข้าถึง จำนวนลูกค้าที่เข้าชมเว็บไซต์หรือแฟนเพจ จำนวนลูกค้าที่เข้ามาติดต่อซื้อสินค้าและบริการ อีกทั้งยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการทำการตลาดแบบเดิมเป็นอย่างมาก จึงช่วยลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็เหมาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจที่สุด
5) นำเสนอสินค้าและบริการได้อย่างสะดวก ช่วยประหยัดและเพิ่มความสะดวกในการนำเสนอสินค้าและบริการ เพราะไม่จำเป็นต้องจ้างนายแบบหรือทำโฆษณาในราคาแพง แค่ใช้ตัวหนังสือที่มีความน่าสนใจและดึงดูดลูกค้าได้ดี ก็สามารถเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและบริการได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ซึ่งก็ประหยัดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาได้ดีที่สุด

5.7 ประโยชน์จากการทำการตลาดออนไลน์

      อิสระต่อผู้บริโภค ผู้บริโภคสามารถเลือกอย่างเจาะจงได้ว่า ต้องการสินค้าอะไรและเป็นสินค้าแบบไหนผู้บริโภคสามารถเลือกผู้ให้บริการที่พวกเขาต้องการได้ด้วยตัวเองมีตัวเลือกมากขึ้น ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าที่อยากได้ ได้อย่างตรงจุดที่สุด ทั้งรูปแบบ และสีสัน เพราะปกติแล้วความต้องการของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั่วทุกมุมโลก เพราะการตลาดออนไลน์จะเชื่อมโยงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากทุกมุมโลกเข้าด้วยกันเปรียบเสมือนมีพนักงานมาทำงานให้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะการขายสินค้าออนไลน์ ลูกค้าสามารถเข้ามาสั่งซื้อได้ตลอดเวลาโดยไม่มีเวลาปิดสามารถให้ข้อมูลและรายละเอียดของสินค้าที่ลูกค้าต้องการได้อย่างครบถ้วน ซึ่งลูกค้าก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ตลอดเช่นกันการตลาดแบบผสมที่จะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ดีที่สุด เพราะนอกจากการขายสินค้าแล้ว ก็สามารถจัดโปรโมชั่นหรือสร้างกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมสนุกกับลูกค้าได้ตลอดเวลาที่ต้องการเป็นการตลาดในรูปแบบ 2-way คือ สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้ทันที ผ่านทางช่องทางการติดต่อบนโลกออนไลน์ ซึ่งจะทำให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น และลูกค้าเองก็เกิดความประทับใจมากขึ้นประหยัดต้นทุน เพราะใช้ต้นทุนต่ำมาก เนื่องจากไม่ต้องสร้างหน้าร้านขึ้นมาก็สามารถขายของออนไลน์ได้ ไม่ต้องเช่าสถานที่ ไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลาหรือจ้างพนักงานเพิ่มเติม นอกจากนี้ก็สามารถจัดทำแคตตาล็อกออนไลน์ ที่เปิดดูผ่านทางคอมพิวเตอร์ได้เลย โดยไม่ต้องเสียเงินพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มสินค้าบางประเภทที่ซื้อขายผ่านทางออนไลน์ สามารถจัดส่งให้กับลูกค้าได้ทันที เช่น หนัง เพลง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

5.8 ข้อควรระวังในการทำการตลาดออนไลน์

    การทำการตลาดออนไลน์นั้น สามารถทำได้หลายช่องทางและหลากหลายวิธี แต่ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่ควรระวังเช่นกัน เพราะไม่อย่างนั้นก็จะทำให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปอย่างที่หวังได้ และอาจเกิดผลเสียตามมาได้ในที่สุด โดยมีข้อควรระวังในการทำการตลาดออนไลน์ดังต่อไปนี้

6. เศรษฐกิจหมุนเวียน  (Circular Economy)

      การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เป็นมูลเหตุสำคัญของการกระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย๋จำกัดที่เป็นไปอย่างฟุ่มเฟือยและแก่งแย่งทรัพยากรกัน จนมีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนทั้งทางด้านวัตถุดิบและพลังงาน ขาดความมั่นคงของทรัพยากร เป็นเหตุให้ เศรษฐกิจหมุนเวียน มีความจำเป็นและเป็นเทรนด์ธุรกิจที่กำลังถูกจับตาด้วยหลักการจัดการของเสียโดยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิต และบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำ เพราะโลกของเรานับวันจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น อุณหภูมิโลกก็สูงขึ้น ขณะที่ขยะกำจัดเท่าใดก็ไม่มีวันหมดเหล่านี้ล้วนทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และปัญหามลภาวะของสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น ที่สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 
เป้าหมาย 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยการเปลี่ยนแปลงการผลิตและการบริโภคสินค้าและทรัพยากรใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและการจำกัดขยะที่เป็นมลพิษ การส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลและลดขยะมูลฝอยในอุตสาหกรรม
 เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน เพื่อต่อสู่กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบของการ

6.1 ข้อดีของการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน

      การสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการเพิ่มสัดส่วนการนำกลับมาแปรรูปใหม่ (Recycle) และลดปริมาณของเสีย อีกทั้งมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ เกิดการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง 
1) สร้างงานและผลักดันทางเศรษฐกิจ
2) เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากร
3) เพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลและลดปริมาณของเสีย
4) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
5) ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
6) สร้างโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ 
7) ผลักดันการสร้างนวัตกรรม
หลักการที่ 1 การรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Capital)ควบคุมให้มีการใช้ประโยชนจากทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด และได้ประโยชน์สูงสุด ผ่านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการจัดการทรัพยากรในระบบและการฟื้นคืนสภาพทรัพยากรธรรมชาติ 
หลักการที่ 2 การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ โดยการออกแบบและแปรรูปทรัพยากร ภายหลังกการใช้งาน การซ่อมแซม       และน้ำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อเกิดการหมุ่นเวียนของวัตถุดิบภายในระบบเศรษฐกิจ
หลักการที่ 3 การรักษาประสิทธิภาพของระบบและลดผลกระทบเชิงลบ เน้นการจัดการและลดผลกระทบเชิงลบ ที่มาจากการใช้ทรัพยากร เช่น การใช้ที่ดิน อากาศ น้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

6.2 ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในธุรกิจ

       บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC   ได้ดำเนินโครงการ โครงการ Upcycling Plastic Waste ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษา ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ๆ ซึ่งมุ่งมั่นพัฒนาการนำขยะพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว มาแปรรูป ผ่านการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ หรือของตกแต่งบ้าน ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและยาวนาน โดยมีเป้าหมายเพื่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และโครงการโดดเด่นเป็นรูปธรรมแล้วคือโครงการที่ดำเนินงาน ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ประเทศสเปน เพื่อมุ่งส่งเสริมการจัดการปัญหาขยะในทะเลและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทยให้สวยงามอย่างยั่งยืน (Upcycling the Oceans, Thailand) ได้ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกนำมาจำหน่าย และใช้ในหลากหลายกิจกรรม เช่น เสื้อวิ่งมาราธอน และคาดว่าปลายปีนี้จะมีสินค้าสู่ตลาดที่จะนำมาให้ประชาชนได้ร่วมอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมจากการ Upcycling Plastic Waste

7.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

7.1 ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
        ภาวะโลกร้อน กลายเป็นคำคุ้นหูที่ทุกคน คงเคยได้ยินกันมาบ้างในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาแต่หลายคนก็ยังสับสนอยู่ว่าจริงๆ แล้ว ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปรากฏการณ์เรือนกระจก มันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร หรือจริงๆ แล้ว มันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
        ภาวะโลกร้อน (Global Warming) คือ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลก และผืนมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกิดจาก ก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ฯลฯ ที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมีมากจนเกินสมดุล ซึ่งโดยปกติแล้ว ก๊าซเหล่านี้จะอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก ทำหน้าที่ห่อหุ้มโลกเอาไว้ คล้ายๆเรือนกระจก หรือ Green House ที่เป็นเกราะกำบังกรองความร้อนที่จะผ่านลงมายังพื้นโลก และในขณะเดียวกันก็ทำาหน้าที่ เก็บกักความร้อนบางส่วนเอาไว้ ทำให้โลกมีอุณหภูมิพอเหมาะสำหรับการดำรงชีวิต
       แต่ในปัจจุบัน ก๊าซเรือนกระจกมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์   ทำให้รังสี จากดวงอาทิตย์ที่เคยส่องมายังโลก ไม่สามารถสะท้อนกลับออกไปนอกโลกได้ เพราะถูกก๊าซเรือนกระจกที่ มีปริมาณมาก บดบัง เรียกสภาวะแบบนี้ว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก เมื่อความร้อนไม่สามารถสะท้อนกลับ ออกไปนอกโลก ก็ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น เกิดเป็นภาวะโลกร้อน ยิ่งก๊าซเรือนกระจกมากเท่าใด โลกก็จะร้อนขึ้นเท่านั้นและเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ผลพวงที่ตามมาก็คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลก เช่นที่เรา กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และยังกระทบต่อสมดุลในด้านต่างๆ บนโลกใบนี้อย่างมากมายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) คือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ย (Average Weather) ในพื้นที่หนึ่ง ลักษณะอากาศเฉลี่ย หมายความรวมถึง ลักษณะทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอากาศ เช่น อุณหภูมิ ฝน และลม เป็นต้น ในความหมายตามกรอบของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ FCCC (Framework Convention on Climate Change) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลทางตรง หรือทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศ เปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากความผันแปรตามธรรมชาติ

7.2 ก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
      ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide : CO2) เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล จำพวกน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม คมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า รวมถึงเกิดจากการเผาป่า เป็นต้น เชื้อเพลิงเหล่านี้ มีสารคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก เมื่อถูกเผาไหม้ จะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลอยขึ้นสู่บรรยากาศ 

       ก๊าซมีเทน (Methane: CH4) เกิดจากการย่อยสลายของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เราสามารถพบก๊าซมีเทนตามธรรมชาติได้บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ (Swamp/ Wetland) นอกจากนี้ก๊าซมีเทนยังเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ด้วย เช่น กิจกรรมทางการเกษตร (การปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์) การฝังกลบขยะมูลฝอยในบ่อขยะ การทำเหมืองแร่ และการผลิตถ่านหิน ฯลฯ แม้ในชั้นบรรยากาศจะมีก๊าซมีเทนอยู่น้อยแต่ก๊าซชนิดนี้ สามารถดูดซับความร้อนได้มากกว่า CO2 ถึง 25 เท่า
      ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide: N2O) เกิดจากการทำการเกษตร ปศุสัตว์ การย่อยสลายของซากพืชและซากสัตว์ และการใช้ปุ๋ยที่มีองค์ประกอบของไนโตรเจน การเผาไหม้เชื้อเพลิงในภาคพลังงาน ฯลฯ
      ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbons: HFCs) ใช้เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ และใช้ในอุตสาหกรรมโฟมและสารดับเพลิง
      ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluorocarbons: PFCs) พบในการหลอมอะลูมิเนียมและผลิตสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า
      ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulfur Hexafluoride: SF6) นำมาใช้เป็นฉนวนไฟฟ้าป้องกันการเกิดประกายไฟจากอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง หรือนำมาใช้เพื่อช่วย     ระบายความร้อนจากอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง และนิยมนำไปใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์ ก๊าซชนิดนี้ถูกระบุว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการ
ทำาให้เกิดโลกร้อนมากที่สุด มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 22,800 เท่า
      ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (Nitrogen Trifluoride : NF3) เป็นก๊าซที่พบมากในอุตสาหกรรมผลิตวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือแผงวงจรขนาดเล็ก           สำหรับคอมพิวเตอร์เช่น โซลาร์เซลล์จอแอลซีดีที่ใช้ในโทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ
ในบรรดาก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีปริมาณมากที่สุด ประมาณ 76 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน คิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ และเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ก๊าซมีเทน 16 เปอร์เซ็นต์ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ 6 เปอร์เซ็นต์ และอีก 2 เปอร์เซ็นต์ คือ กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์

7.3 ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

1) อากาศแปรปรวน น้ำทะเลสูงขึ้น
         ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 0.85 องศาเซลเซียส แม้ดูเหมือนจะน้อยนิด (เพราะยังไม่ถึง 1 องศาเซลเซียส) แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง พายุฝน น้ำท่วม และคลื่นความร้อน ฯลฯ ที่รุนแรงและถี่มากขึ้น นอกจากนี้ระยะเวลาและจำนวนวันที่มีอากาศร้อน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อปี 2560 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และถือเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน และล่าสุดปี 2561 หลายประเทศ ในทวีปยุโรป ต้องเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อน จนมีผู้เสียชีวิต หลายประเทศต้องประสบกับภัยพิบัติและ น้ำท่วมฉับพลัน ทำลายสิ่งปลูกสร้าง และโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และ เศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้น้ำท่วมขัง ยังทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค หรือกรณีของพายุหิมะพัดถล่ม ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้มีหิมะสูงกว่า 50 เมตร
          นอกจากนี้ภาวะโลกร้อน ยังทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 0.19 เมตร ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ประชากร 100 ล้านคน ที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเลจะถูกกัดเซาะจากคลื่นลมที่รุนแรง โดยจะเกิดขึ้นมากบริเวณเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และกรุงเทพก็จะได้รับ ผลกระทบด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมีเมืองท่ากว่า 130 แห่งทั่วโลก   5 กำลังแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และคาดว่า ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมีมูลค่ารวม ๆ กันแล้ว ประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ที่แปรปรวนเกินคาดเดา
2) โลกร้อน โลกแล้ง
          วัฏจักรของน้ำจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโลกร้อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของทรัพยากรน้ำ
ถ้าอุณหภูมิเพิ่งสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส น้ำ จืดทั่วโลกจะลดลง 20 เปอร์เซ็นต์และลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออุณหภูมิเพิ่งสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส ในบางพื้นที่จะประสบกับความแห้งแล้ง และเกิดภาวะขาดแคลน น้ำสำหรับอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะทางตอนเหนือและทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา เอเชียกลาง และเอเชียใต้
3) ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง
       การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศบนพื้นโลก ไม่ว่าจะเป็น ระบบนิเวศป่าไม้ ระบบนิเวศน้ำจืด หรือแม้กระทั่งระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมและทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ในอดีตที่ผ่านมา สาเหตุหลักที่ทำให้พืชและสัตว์สูญพันธุ์ คือ ถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ถูกทำลาย อันมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของเมืองและชุมชน แต่จากการศึกษาล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศกำลังจะกลายเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
      ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียส จะทำ ให้ป่าอเมซอนมีโอกาสเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายใน ปี 2050
      ความหลากหลายทางชีวภาพจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นเมื่อโลกมีอุณหภูมิ สูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศของโลกเปลี่ยนแปลงมหาศาลอย่างที่ไม่คาดคิด และยังทำให้ พืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศ (ทั้งระบบนิเวศป่าไม้ และระบบนิเวศทะเลและชายฝั่ง) ได้รับผล กระทบและถูกคุกคามถึง 16 เปอร์เซ็นต์
    ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติจะส่งผลกระทบโดยตรงกับมนุษย์เพราะมนุษย์ ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
    อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น และฤดูกาลที่แปรปรวน ทำให้การสืบพันธุ์และการขยายพันธุ์ของสัตว์บางชนิดได้รับผลกระทบ และยังทำให้สัตว์หลายชนิดต้องสูญเสียแหล่งอาหาร และต้องใช้พลังงานในการหาอาหาร เพิ่มมากขึ้นด้วย มีการประเมินว่า แม้เราจะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสได้ แต่ก็จะยังมีพืชและสัตว์สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของชนิดพันธุ์ทั้งหมดบนโลก (จากงานวิจัย ทั้งหมด 131 ชิ้นทั่วโลก)

4) ระบบนิเวศทะเลเปลี่ยน เมื่อมหาสมุทรร้อนขึ้น
      เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ก็ทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นด้วย  จนทำให้มหาสมุทรมีสภาพเป็นกรด เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ลงไปละลายอยู่ในน้ำทะเล ทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น
    ความเป็นกรดและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นของมหาสมุทร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล เช่น เมื่อทะเลมีสภาพเป็นกรด จะทำให้สัตว์มีเปลือกที่มีเเคลเซียมเป็นส่วนประกอบอย่างกุ้งและหอย ไม่สามารถรอดชีวิตจากสภาพเช่นนี้ได้ เพราะกรดจะกัดกร่อนเปลือกที่เป็นแคลเซียมของพวกมัน
 ความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้น ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ปะการังตาย และทำ ให้การเกิดขึ้นของปะการังยากขึ้น
  - อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะทำให้ปะการังทั่วโลกเสื่อมโทรมถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ภายในไม่กี่สิบปี
  - อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส ปะการังจะเสื่อมโทรมถึง 59 เปอร์เซ็นต์ ภายในไม่กี่สิบปี
  - อุณหภูมิสูงขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส ปะการังส่วนใหญ่จะสูญพันธุ์ และเมื่อปะการังซึ่งเป็นทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย และที่หลบภัยของสัตว์ทะเลนานับชนิดถูกทำลาย ก็ย่อมส่งผลถึงสมดุลของระบบนิเวศใต้ท้องทะเล และมนุษย์ก็จะได้ผลกระทบด้วย เพราะทรัพยากรประมงลดลง
    หญ้าทะเลและสาหร่ายทะเลจะลดลง จากอุณหภูมิน้ำ ทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะคุกคามต่อการดำ รงชีวิต ของสัตว์น้ำาที่อาศัยอยู่ในเขตภูมิภาคกึ่งเขตร้อน (Subtropical Region) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริเวณชายฝั่งทะเล และปากแม่น้ำ จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากค่าความเค็ม และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต

5) อาหารลดลง
       การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้สภาพอากาศแปรปรวน บางปีแห้งแล้ง บางปีน้ำท่วม ซึ่งไม่เพียงแต่ จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ยังสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารของคนทั่วโลกซึ่งไม่ใช่แค่ เกษตรกรเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ผู้บริโภคก็หนีไม่พ้นเช่นกันในปี พ.ศ. 2593 ประชากร 200 ล้านคนจะขาดแคลนอาหาร และจะมีเด็กที่ขาดสารอาหารมากถึง 24 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
       ผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดจะลดลงเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น เช่น ข้าว งานวิจัยระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ย ของไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส และหากอุณหภูมิยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดกันว่าทุก ๆ 1 องศาเซลเซียสจะทำให้ผลผลิตข้าวลดลงร้อยละ 10 และในช่วงที่ข้าวเริ่มผสมเกสร ถ้าอุณหภูมิ สูงเกิน 35 องศาเซลเซียส จะทำให้เกสรของข้าวมีอายุสั้น ส่งผลให้อัตราการผสมเกสรลดลง    เม็ดข้าวจะลีบ และผลผลิตจะลดลง รวมถึงแมลงศัตรูพืช และโรคระบาดก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
เมื่อพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำ ท่วม น้ำ แล้ง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ ย่อมทำให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรผันผวน แรงงานภาคการเกษตรตกอยู่ในภาวะเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในประเทศเขตร้อนมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในการทำ เกษตรกรรม เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทำ ให้พื้นที่เคย เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกอาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป

     ข้อมูลบริบทของตำบลตลาด ได้ถูกรวบรวมและได้จัดทำเป็นคู่มือการเรียน ตำบลตลาด ในรูปของ E-book เพื่อโรงเรียนในพื้นที่ได้นำเป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับเยาวชน ให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของถิ่นฐานบ้านเกิด เกิดความภาคภูมิใจ และสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน  โดยผู้สนใจสามารถศึกษาได้จาก คู่มือการเรียนรู้ ตำบลตลาด Bookcase - Flip Book| PubHTML5

8. การพัฒนากลไกด้านการศึกษา โดยใช้อัตลักษณ์ชุมชน 
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์  และเทศบาลเมืองมหาสารคาม ร่วมกับโรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร โรงเรียนเทศบาลบ้านส่องนางใย  โรงเรียนเทศบาลสามัคคีวิทยา และโรงเรียนเทศบาลศรีสวัสดิ์วิทยา ดำเนินโครงการการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนและการสอนแบบสหวิทยาการโดยใช้ประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ท้องถิ่นเป็นฐานสู่การพัฒนาชุมชนยั่งยืน  ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว)  ได้พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นสหวิทยาการ เพื่อนำร่องใช้ในการจัดการเรียนและการสอน สำหรับ 4 โรงเรียน ดังนี้ 
E-book หลักสูตรท้องถิ่นแบบบูรณาการ Bookcase - Flip Book| PubHTML5

โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร 
กิจกรรม: ชุมชนอภิสิทธิ์: วิถีชีวิตรากฐานวัฒนธรรม
กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่บูรณาการ: สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม การงานอาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะ และภาษาไทย
กลุ่มเป้าหมาย: ม.1  
สื่อนวัตกรรม: คลิปวิดีโอประวัติของชุมชนอภิสิทธิ์
(4) Video | Facebook

โรงเรียนเทศบาลศรีสวัสดิ์วิทยา 
กิจกรรม: คลองสมถวิลสายน้ำแห่งวัฒนธรรม
กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่บูรณาการ: สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ  
และการงานอาชีพ 
กลุ่มเป้าหมาย: ป.4-6 
สื่อนวัตกรรม: เครื่องกรองน้ำระดับครัวเรือน

โรงเรียนเทศบาลบ้านส่องนางใย 
กิจกรรม: ปั้นดินบ้านหม้อ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่บูรณาการ: สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม การงานอาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะ และภาษาไทย
กลุ่มเป้าหมาย: ป.4-6
สื่อนวัตกรรม: คลิปวิดีโอประวัติของชุมชนบ้านหม้อ

โรงเรียนเทศบาลสามัคคีวิทยา 
กิจกรรม: วิถีท่องเที่ยววัฒนธรรมสไตล์ชีวิตวิถีใหม่ 
กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่บูรณาการ: ภาษาอังกฤษสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะ ภาษาไทย และภาษาจีน
กลุ่มเป้าหมาย: ป.4-6
สื่อนวัตกรรม: แผนที่ 3มิติ


เอกสารอ้างอิง 
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. 2563. คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ                            
       (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: บริษัท กู๊ดแฮด พริ้นท์ติ้ง แอนด์ แพคเกจจิ้ง กรุ๊ป จำกัด. 
กรมกิจกรรมผู้สูงอายุ  2565. ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้มีสุขภาพดี. สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2563; ได้จาก: 
       https://www.dop.go.th/th/know/15/409).
บริษัท วันบีลีฟ จำกัด การตลาดออนไลน์ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ประเภทของสื่อออนไลน์ที่ใช้ทำการ
       โฆษณา. สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2563; ได้จาก:  https://www.1belief.com/article/online-marketing/
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน).  2561. เกษตรอินทรีย์ คือ อะไร และทำไมต้องเกษตร
      อินทรีย์? สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2563; ได้จาก: 
      https://www.arda.or.th/knowledge_detail.php?id=17.)