เรื่องราวของตำบลตลาด
เมืองมหาสารคาม เกิดจากการแยกตัวออกจากเมืองร้อยเอ็ดโดยขอตั้งเป็นเมืองในปี พ.ศ. 2408 (ผู้คนจากเมืองจำปาศักดิ์มาสร้างเมืองสุวรรณภูมิในปี พ.ศ. 2256 และผู้คนจากเมืองสุวรรณภูมิแยกตัว มาสร้างเมืองร้อยเอ็ด และเมืองอื่น ๆ) ในปี พ.ศ. 2402 พระขัตติยวงศา (จัน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดได้ให้ท้าวมหาชัย (กวด) บุตรอุปฮาตสิงห์ เมืองร้อยเอ็ด และท้าวบัวทอง บุตรอุปฮาต (ภู่) สำรวจดินแดนทางทิศตะวันตกของเมืองร้อยเอ็ดเพื่อขอตั้งเมืองใหม่ และเมื่อเลือกที่ตั้งได้แล้ว ท้าวมหาชัย (กวด) และท้าวบัวทองได้แบ่งผู้คนจากเมืองร้อยเอ็ด ประมาณ 9,000 คน มายังเมืองใหม่ และ ในปี พ.ศ. 2402 ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลไปยังกรุงเทพฯ ต่อมา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยก “บ้านลาดกุดยางใหญ่” หรือ “บ้านลาดกุดนางใย” เป็นเมืองมหาสารคาม พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวมหาชัย (กวด) เป็นพระเจริญราชเดช (กวด) เจ้าเมืองมหาสารคามคนแรก นับตั้งแต่นั้นมาเมืองมหาสารคามได้เริ่มเจริญขึ้นเนื่องจากมีผู้คนอพยพมาสมทบ อันมีผลให้เมืองมหาสารคามได้ขยายตัวไปเป็นระยะ ๆ ในเวลาต่อมา
ในเรื่องเกี่ยวกับชื่อเมืองมหาสารคาม รองศาสตราจารย์ธีรชัย บุญมาธรรม ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้เสนอความเห็นว่า ชื่อเมืองที่ถูกต้องควรเป็น “มหาสาลคาม” โดยแปลจากข้อความ “กุดยางใหญ่” ดังนี้
“มหา” ตรงกับคำว่า ใหญ่
“สาละ” เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง จำพวกต้นรังซึ่งจัดอยู่ในตระกูล ไม้ยาง ดังนั้นคำว่า “ยาง” น่าจะถูกดัดแปลงเป็น สาละ ซึ่งเป็นไม้ตระกูลยางชนิดหนึ่งและมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ด้วยพระนางสิริมหามายา ได้ประสูติพระพุทธเจ้าใต้ต้นสาละ โดยได้ทรงใช้พระหัตถ์เหนี่ยวกิ่งต้นสาละไว้
“กุดนางใย” หรือ กุดยางใหญ่
“คาม” หมายถึง ที่อยู่อาศัยของชุมชน ที่แปลเช่นนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเข้าพระทัยว่า “กุด” (ความหมายท้องถิ่น แปลว่า ลำน้ำด้วน คือ สายน้ำเปลี่ยนทางเดิน ทำให้สายน้ำเดิมกลายเป็นลำน้ำด้วน ลักษณะเดียวกับทะเลสาบ) เป็นคำเดียวกับคำว่า “กุฏิ” ซึ่งหมายถึงที่อยู่อาศัย เนื่องจากพระองค์ทรงสร้างกุฏิไว้เป็นที่ประทับสำหรับทรงบำเพ็ญภาวนาและสมาธิ กุฏิจึงมีลักษณะคล้ายถ้ำเล็ก ๆ ซึ่งทรงสร้างไว้บริเวณพระราชวังปทุมวัน (ซึ่งต่อมาส่วนหนึ่ง คือวังเพ็ชรบูรณ์ ในเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) และใช้คำว่า คาม แปลว่าที่อยู่อาศัยซึ่งหมายถึง ชุมชนแทน
ชุมชนริมแม่น้ำชี ท่าขอนยาง เส้นทางระหว่างทางสหัสขันธ์ - สารคาม 22 มีนาคม ปี 2479
หอนาฬิกาและรถสามล้อถีบ เมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม มกราคม พ.ศ. 2506 หรือ 2507
ภาพปัจจุบัน หอนาฬิกา เมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม 27 ธันวาคม พ.ศ. 2565
จังหวัดมหาสารคาม ตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางของภาคอีสาน จัดว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็ก กล่าวคือ มีพื้นที่ 5,291.68 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 961,658 คน ประกอบด้วย 13 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอำเภอกันทรวิชัย อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอบรบือ อำเภอเชียงยืนอำเภอชื่นชมอำเภอวาปีปทุม อำเภอแกดำ อำเภอนาดูน อำเภอนาเชือก อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอยางศรีสุราช และอำเภอกุดรัง สำหรับเมืองหรือเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามจัดว่ามีขนาดเล็กเช่นกัน โดยเทศบาลเมืองมหาสารคามมีพื้นที่ 24.14 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 54,241 คน ไม่มีตึก อาคารพาณิชย์ที่สูง ๆ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผู้คนส่วนใหญ่ยังดำรงชีวิตเกี่ยวกับการเกษตร คือ การปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง มหาสารคามจึงเป็นจังหวัดเล็กที่ไม่มีอะไรโดเด่นจนน่าสนใจ
เมื่อครั้งในปี พ.ศ. 2455 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2453-2468 โปรดให้ผู้ว่าราชการเมือง (ต่อมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด) ซึ่งถูกคัดเลือกจากกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นผู้ปกครองแทนเจ้าเมืองเดิม สำหรับจังหวัดมหาสารคาม กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ฯ มาเป็นผู้ว่าราชการระหว่างปี พ.ศ. 2455-2459 และมีผู้ว่าราชการจังหวัดดำรงตำแหน่งสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกได้เริ่ม ย้ายหน่วยงานทางราชการเดิม ซึ่งเคยปฏิบัติงาน ณ โฮงเจ้าเมือง หรือบ้านเข้าเมือง ให้ไปยังสถานที่ใหม่ โดยทรงสร้างที่ทำการหรือศาลากลางหลังแรก (ปัจจุบันบริเวณที่ว่าการอำเภอเมือง) ต่อมาในปี พ.ศ. 2461 พระยาสารคามคณาภิบาล (พร้อม ณ นคร) ได้จัดสร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้น เพราะสถานที่เต็มคับแคบ และเมื่อพระยาสารคามคณาภิบาล (ทิพย์ โรจนประดิษฐ์) มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ได้จัดสร้างศาลากลางหลังใหม่ต่อ และสำเร็จสมัยผู้ว่าฯ พระประชากรบริรักษ์ (สาย ปาลนันท์) ในปี พ.ศ. 2467 ซึ่งอาคารศาลากลางหลังนี้ใช้มาจนถึงปี พ.ศ. 2495 อาคารศาลากลางคอนกรีตหลังใหม่ สร้างในปี พ.ศ. 2495 และ เสร็จในหนึ่งปีถัดมา และใช้จนถึงปี พ.ศ. 2540 สร้างศาลากลางหลังใหม่เป็นศูนย์ราชการตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ เมืองตามเส้นทางไปจังหวัดบุรีรัมย์ นับเป็นอาคารศาลากลางจังหวัดมหาสารคามลำดับที่ 4
หลังการก่อสร้างศาลากลางหลังแรก อาคารทางราชการใหม่ ๆ จึงทยอยเกิดขึ้น เช่น จวนผู้ว่าราชการ โรงเรียน เรือนจำ และหน่วยงานราชการอื่น ๆ การสร้างหน่วยราชการใหม่ ๆ เป็นผลให้เกิดการขยายตัวทั้งสถานที่ราชการและการตั้งหลัก แหล่งของชุมชนบริเวณสถานที่ราชการนั้น ๆ ผู้คนเริ่มอพยพมา ตั้งถิ่นฐานบริเวณสถานที่ราชการใหม่ ๆ และต่อมากลายเป็นคุ้ม หรือที่อยู่ของชุมชนที่มีขนาดใหญ่แยกจากชุมชนเดิม การขยายตัวของชุมชนเริ่มจากเส้นทางที่เป็นโฮงเจ้าเมืองมายังบริเวณศูนย์ราชการใหม่ ตามแนวทางทิศตะวันตกของถนนนครสรรค์ มีผลทำให้ตลาดการค้า ได้ย้ายจากบริเวณถนนเจริญราชเดช ตลาดสี่กั๊กไปใกล้ ๆ กับโฮงเจ้าเมืองถนนนครสวรรค์ (ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ตั้งโรงภาพยนตร์ 4711) กล่าวคือในปี พ.ศ. 2458 หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้ทรงแนะนําพระเจริญราชเดช (อุ่น) ซึ่งในขณะนั้นเป็นกรมการเมือง ให้ดำเนินการสร้างตลาดสดขึ้นให้ถูกต้องตามหลักการ เพราะตลาดสดในขณะนั้นขายของสดอยู่กลางถนน กีดขวางทางจราจร และไม่ถูกหลักอนามัย เมื่อสร้างตลาดแล้วเสร็จ หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ ทรงเรียกชื่อตลาดนี้ว่า “ตลาดเจริญ” ตามนามของพระเจริญราชเดช ตลาดนี้ ได้รื้อและสร้างใหม่อีกหลายครั้งจนภายหลังชาวเมืองมหาสารคามบางกลุ่มเรียกชื่อตลาดนี้ว่า “ตลาดนายอวด” (นายฮวด ทองโรจน์) ตลาดสดแห่งนี้ได้ดำเนินการมาจนถึงปี พ.ศ. 2488 นายอาด ทองโรจน์ ได้ย้ายตลาดสดไปยัง “ตลาดของเรา” หรือตลาดสดเทศบาลจนถึงปัจจุบัน การที่คุ้มเจ้าเมืองและตลาดสดย้ายจากบริเวณถนนเจริญราชเดช มีผลให้สองฝั่งถนนนครสวรรค์ (ด้านตะวันตกของเมืองเดิม) เริ่มปรากฏมีตึกดินเป็นร้านค้า จนสุดบริเวณถนนนครสวรรค์ตัดกับถนนวรบุตร หรือสี่แยกไฟแดงธนาคารกรุงเทพ ในปัจจุบันถัดมาจึงเป็นสถานที่ราชการ
การเปลี่ยนแปลงภายในเมืองดำเนินไปอย่างช้า ๆ ดังกรณีของสิ่งก่อสร้างในอดีต เช่นอาคาร ซึ่งมีอายุนับร้อยปี เรียกว่า “ตึกดิน” บริเวณริมถนนนครสวรรค์ซึ่งเป็นถนนสายหลัก เริ่มได้รับความชิงชังจากคนรุ่นหลัง ตึกดินหลายห้องได้รับการทำลายและกลายเป็นตึกสมัยใหม่แทน บ้านไม้อายุเก่าแก่ได้ถูกรื้อถอนกลายเป็นตึกอาคารพาณิชย์ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าเมืองมหาสารคามโดยไม่สนใจ ที่จะเหลืออดีตไว้ให้คนรุ่นหลังได้ภูมิใจ มหาสารคาม จึงเป็นตัวอย่างของเมืองเล็ก ๆ ที่ไม่มีอะไรโดดเด่นแต่มีประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษา และอาจเป็นตัวอย่างให้กับเมืองเล็ก ๆ ที่ไม่น่าสนใจอีกหลายเมืองในภูมิภาคนี้ สำหรับการศึกษาเพื่อเข้าใจชีวิตของผู้คนกับความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ของความเป็น “ลาว” อีสาน เพราะโดยทั่วไปการศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองมักไม่เห็นภาพของผู้คนในมิติเวลา และดูจะเป็นเรื่องเล่ามากกว่าประวัติศาสตร์
มหาสารคามในปัจจุบัน มหาสารคามในปัจจุบัน ยังไม่แตกต่างจากอดีตมากนัก กล่าวคือไม่ปรากฏว่ามีสินค้าและทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า มหาสารคาม เป็นจังหวัดที่จัดอยู่ในกลุ่มของ “จังหวัดยากจน” ของประเทศ มหาสารคามมิใช่เมืองที่มีความสำคัญทางการปกครอง (กล่าวกันว่าผู้ที่จะดำรงตำแหน่งระดับสูงของทางราชการ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งข้าราชการระดับสูงตำแหน่งต่าง ๆ มักต้องมา ฝึกงานที่จังหวัดนี้ก่อนไปดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ณ จังหวัดสำคัญอื่น ๆ)
มหาสารคามไม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะไม่มีภูเขา ไม่มีแหล่งน้ำใหญ่ที่สวยงามสำหรับเป็นที่พักผ่อน และมหาสารคามยังขาดนักธุรกิจที่จะมาลงทุนทางอุตสาหกรรมที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน มหาสารคามเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งทางการศึกษา สถาบันการศึกษาระดับสูง ประกอบด้วย หน่วยงานทางการศึกษาระดับต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม วิทยาลัยเกษตร สถาบันการพลศึกษา วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยพยาบาล ซึ่งสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้มีผู้คนจำนวนมาก เข้ามาอาศัยในเมืองมหาสารคามเป็นช่วง ๆ ในลักษณะ “ประชากรแฝง” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้มหาสารคามกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแบบสมัยใหม่ซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้นทุกที
อ้างอิง
รูปภาพ : www.isangate.com/ประตูสู่อีสาน /ภาพเก่าเล่าเรื่อง “มหาสารคามในอดีต” และ ภาพจากเพจแจ้งข่าวมหาสารคาม