Wild Landscape
หน้าแรก เรื่องราวของตำบลตลาด แผนที่การท่องเที่ยวตำบลตลาด งานประเพณีและศิลปวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชน ทรัพยากรชีวภาพ: วัตถุดิบท้องถิ่น ตราผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความประทับใจในตำบลตลาด ข้อมูลสร้างการเรียนรู้ของชุมชน ติดต่อเรา

ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 6 ส่วน ดังนี้ 
ส่วนที่ 1: ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย (Municipal and Hazardous Waste) 
ยังไม่มีข้อมูล

ส่วนที่ 2: คุณภาพน้ำผิวดิน  (Surface Water Quality)
      คณะดำเนินการโครงการ U2T ตำบลตลาด ได้สำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูล และตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้น ประกอบด้วย อุณหภูมิ (Temperature)  ค่าความเป็นกรด-ด่าง  (pH) ค่าการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity) และค่าออกซิเจนละลาย (DO)  ในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา   โดยมีทั้งหมด  4 จุดตรวจวัด ได้แก่ หนองกระทุ่ม (ชุมชนโพธิ์ศรี)  ห้วยคะคาง กุดนางใย และคลองสมถวิล  เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน พบว่า ทั้งสามตัวแปร ได้แก่ อุณหภูมิ (Temperature)  และค่าความเป็นกรด-ด่าง  (pH)  เป็นไปตามมาตรฐานแหล่งน้ำประเภทที่ 3 ทั้ง 4 จุด   สำหรับกุดนางใย และคลองสมถวิล  พบว่า มีกลิ่นทั้งสองจุด เนื่องจากมีการระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง  และยังพบว่า ณ จุดตรวจวัดคลองสมถวิล มีค่าออกซิเจนละลาย (DO) ต่ำกว่ามาตรฐาน ในขณะที่หากพิจารณาคุณภาพของน้ำ โดยเปรียบเทียบกับแหล่งน้ำประเภทที่ 2 เนื่องด้วยยังพบเห็นวิถีชีวิตการหาปลาที่ใช้แหล่งน้ำดังกล่าว พบว่า ห้วยคะคาง กุดนางใย และคลองสมถวิล  มีค่าออกซิเจนละลาย (DO) ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการการบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างเร่งด่วน โดยต้องเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งนี้กุดนางใย และคลองสมถวิล นับเป็นอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ที่สำคัญของชุมชนศรีสวัสดิ์ 3 และอุทัยทิศ2 ตามลำดับ  อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมและท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชุมชนเมืองของตำบลตลาดที่ทุกคนต้องตระหนักถึงคุณค่า ใช้ประโยชน์ ดูแลและรักษาคุณภาพน้ำที่ดีอย่างยั่งยืน
ที่มา: http://env.msu.ac.th/th/?p=20961

ภาพที่ 2.1 ลงพื้นที่เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำ 

ภาพที่ 2.2 ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำคลองสมถวิล  
ที่มา: ทรงภพ (2561) 

     ทั้งนี้ ในการติดตามคุณภาพน้ำ สามารถตรวจสอบได้จากฐานข้อมูลคุณภาพน้ำ  https://rwater.mnre.go.th/front/main/WaterQuality
เอกสารอ้างอิง 
ทรงภพ เมฆพรรณโอภาส. การเปลี่ยนแปลงบทบาทของคลองสมถวิลจากการปรับตัวของเมืองจังหวัดมหาสารคาม
     สาระศาสตร์. 4 (2561), หน้า 655-668. 
ทรงภพ เมฆพรรณโอภาส. บทบาทและแนวทางการฟื้นฟูคลองสมถวิล จังหวัดมหาสารคาม.   [วิทยานิพนธ์ปริญญาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพฯ:      
     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560. 

ส่วนที่ 3: คุณภาพน้ำใต้ดิน (Ground Water Quality)
ยังไม่มีข้อมูล
 

ส่วนที่ 4: คุณภาพดิน (Soil Quality)
ยังไม่มีข้อมูล


ส่วนที่ 5: คุณภาพอากาศ (Air Quality)
พื้นที่เมืองมหาสารคาม  ยังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศและอุตุนิยมวิทยาของกรมควบคุมมลพิษ มีเพียง 1 ุจุดตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Dustboy) ณ เทศบาลเมืองมหาสารคาม https://www.cmuccdc.org/mahasarakhamcity ซึ่งเป็นจุดติดตามและเฝ้าระวังค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยที่ผ่านมา มีการศึกษาในพื้นที่เมืองมหาสารคามหลายงาน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
           เกศริน และอารียา (2564) ได้ศึกษาการผันแปรเชิงเวลาและพื้นที่ของระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่สัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินและความแตกต่างจุดความร้อนระหว่างก่อนมีโครงการและหลังการมีโครงการและเพื่อประเมินผลกระทบจากมาตรการควบคุมการเผาต่อการเปลี่ยนแปลงของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งใช้ข้อมูลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10 และ PM2.5) และอุตุนิยมวิทยาบางตัวแปร ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเมษายน 2564 ที่ตรวจวัดโดยเครื่องตรวจวัดฝุ่นราคาต่ำ ในที่นี้คือ Dustboy  ทั้ง 8 จุดภายในจังหวัดมหาสารคาม  ร่วมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน จุดความร้อน และการสัมภาษณ์ข้อมูลของ 2 ตำบล คือ ต.ศรีสุข และมะค่า เพื่ออธิบายความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กทั้งรายเดือน  วันหยุดและวันทำงาน  รายวัน และชั่วโมงในแต่ละจุดตรวจที่สัมพันธ์กับบริบทพื้นที่และจุดความร้อนในรัศมี 1 3 และ 5 กิโลเมตร  จากการศึกษา พบว่า  ทั้ง PM10 และ PM2.5 มีค่าสูงระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม โดยสอดคล้องกับช่วงเวลาที่พบจุดความร้อน ซึ่ง PM10 มีค่าระหว่าง 30.65 ถึง 84.71 มคก./ลบ.ม.  และ PM2.5  มีค่าระหว่าง 28.96 ถึง 80.85 มคก./ลบ.ม. และตัวแปรทั้งสอง มีความแตกต่างกันระหว่างวันหยุดและวันทำงานอย่างมีนัยสำคัญ (< 0.05)  และสูง ใน 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้า เวลา 5:00-8:00 น. และช่วงเย็น 18:00-21:00 น. ซึ่งเป็นผลจากกิจกรรมในแต่ละการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินในแต่ละจุดตรวจวัด และ PM2.5 มีความสัมพันธ์เชิงลบกับอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์  (< 0.01) สำหรับมาตรการควบคุมการเผา พบว่า จุดความร้อนส่วนใหญ่พบในนาข้าว ในปี 2562 ลดลงจากปี 2563  ถึงร้อยละ 70 ในขณะที่มีการเผาในพื้นที่อ้อย เพิ่มขึ้นเดิม 5 จุด ผลการศึกษานี้ เป็นข้อมูลเบื้องต้น ที่ยังต้องการการวิเคราะห์เชิงลึกที่ใช้ข้อมูลที่มากเพียงพอ ตลอดจนการใช้ข้อมูลอื่น เพื่อช่วยอธิบายพฤติกรรมของแหล่งกำเนิดที่ส่งผลต่อระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองในจังหวัดมหาสารคาม

         พาทิศ และธายุกร (2564) ได้ศึกษาการกระจายตัวของจุดความร้อนที่สัมพันธ์กับการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวและอ้อยในภาคตะออกเฉียงเหนือและศึกษาการเคลื่อนย้ายของหมอกควันระดับภูมิภาคจากการเผาไหม้ของมวลชีวภาพทางการเกษตร ในช่วงเวลาที่มีค่าระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองสูง ได้แก่ เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ปี พ.ศ. 2562  โดยได้พิจารณาเมืองมหาสารคาม เป็นพื้นที่ศึกษา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ ที่ใช้ข้อมูลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองและลม จุดความร้อนจากภาพถ่ายดาวเทียม Terra/Aqua-MODIS การใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวนและตำแหน่งโรงงานน้ำตาลและโรงสีข้าว ควบคู่กับการใช้เทคนิคด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และการประยุกต์ใช้แบบจำลอง HYSPLIT จากการศึกษาพบว่า ประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ นาข้าวและอ้อย ขนาดพื้นที่นาข้าวและอ้อย จำนวนโรงงาน/โรงสี มีความสัมพันธ์กับจำนวน จุดความร้อน ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม อย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) และจำนวนจุดความร้อน ทั้ง 3 เดือน มีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) จากการวิเคราะห์การเคลื่อนย้ายของหมอกควันสู่เมืองมหาสารคาม โดยใช้แบบจำลอง HYSPLIT ในวันที่ 12-15 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระดับฝุ่นละอองสูงในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง คือ จังหวัดขอนแก่น พบว่า การเคลื่อนย้ายของฝุ่นละออง ส่วนใหญ่มาจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพาดผ่านพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น  ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ โดยพบจุดความร้อนที่ระดับความเชื่อมั่นตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป ในพื้นที่นาข้าวและอ้อย คิดเป็นร้อยละ 13.5, 35.6, 25.9, 22.2 และ 29.9 ตามลำดับ และบางส่วนมาจากด้านตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพาดผ่านจังหวัดร้อยเอ็ดและสุรินทร์ โดยพบจุดความร้อน คิดเป็นร้อยละ 46.8 และ 16.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ มีความสอดคล้องกับข้อมูลลมที่ตรวจวัดในเมืองมหาสารคาม ผลการศึกษานี้ เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ยังต้องศึกษาเชิงลึก ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัดฝุ่นละอองและอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่เมืองมหาสารคามระยะยาว อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษา สามารถนำมาเป็นข้อมูล สำหรับประกอบการตัดสินใจในการวางมาตรการป้องกันปัญหาหมอกควัน กรณีของเมืองมหาสารคาม  ในรูปแบบของการกำหนดเทศบัญญัติเทศบาลตําบล เรื่อง การควบคุมควันไฟและฝุ่นละอองจากการเผา ให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่งแจ้ง รวมถึงการประยุกต์ใช้แนวทางตามแผนเเม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่งของกรมควบคุมมลพิษ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน 

          พวงผกา และเบญจพร (2563) ได้ศึกษาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า ทั้ง PM10 และ PM2.5 จากควันธูป ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในสถานที่รับควันธูปจำนวนมาก เช่น ศาลเจ้า วัด สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การศึกษานี้ ได้พิจารณาวัดอุทัยทิศ ในพื้นที่เมืองมหาสารคาม เป็นพื้นที่ศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจวัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากควันธูปในกิจกรรมศาสนพิธี และเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้สูงอายุเบื้องต้น รวมถึงเสนอแนะแนวทางการจัดการควันธูปที่เหมาะสม โดยได้บ่งชี้ตำแหน่งตั้งเครื่องตรวจวัด โดยใช้ AirBeam และตรวจวัด โดยใช้เครื่องเก็บตัวอย่างฝุ่นปริมาตรสูง 8-Stages Cascade Impactor ตรวจวัดตลอดการดำเนินกิจกรรมศาสนพิธี เป็นระยะเวลา 40 นาที พร้อมสัมภาษณ์ข้อมูลจากผู้สูงอายุ จำนวน 75 คน ร่วมกับผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขของชุมชนที่ได้รับเลือก สำหรับใช้ประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นและบ่งชี้ภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุที่เข้าร่วมทำกิจกรรมศาสนพิธี พบว่า ปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมโครเมตร (PM2.5) และ 10 ไมโครเมตร (PM10) เท่ากับ 0.7951 และ 1.7962 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพเบื้องต้น พบว่า มีสัดส่วนความเสี่ยงของ PM2.5 และ PM10 เท่ากับ 1.52 และ 1.56 ตามลำดับ (≤ 1 คือ ค่ายอมรับได้ต่อการสัมผัสฝุ่น) สะท้อนว่ามีภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กจากควันธูปขณะทำกิจกรรมศาสนพิธี

         ปิยาภรณ์ (2561) ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อความเสี่ยงของการเกิดวัณโรคในพื้นที่เมืองมหาสารคาม และเพื่อประเมินผลกระทบของฝุ่นละอองขนาดเล็กเบื้องต้นจากกิจกรรมที่อาจสัมพันธ์ต่อการเกิดวัณโรคและเสนอแนะแนวทาง สำหรับรับมือและป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ  โดยอาศัยการสํารวจพื้นที่  การสัมภาษณ์ข้อมูล การประยุกต์ใช้เทคนิคด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการวิเคราะห์ทางสถิติ ซึ่งได้คัดเลือก 6 ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ได้จากงานในอดีตและพัฒนาขึ้นในงานนี้ ประกอบด้วย ตําแหน่งของผู้ป่วยวัณโรค 5 ปีย้อนหลัง (พ.ศ. 2557-2561) ความหนาแน่นของประชากร การระบายอากาศของที่พักอาศัย ความชิดของบ้านพักอาศัย สถานที่แออัด และค่าสัดส่วนความเสี่ยงจากฝุ่นละออง (PM2.5) จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า มีจํานวนผู้ป่วยวัณโรคทั้งสิ้น 261 ราย (เฉพาะรายใหม่) โดยคิดเป็นอัตราการป่วย โดยเฉลี่ย 52.2 ราย/ปี ส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย (ร้อยละ 50.5) อายุเฉลี่ย 50±19.7 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและไม่มีอาชีพหรือผู้สูงอายุ โดยกลุ่มเสี่ยงหลัก เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค (ร้อยละ 39.1) ผู้สูงอายุ (ร้อยละ 22.6) และผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV (ร้อยละ 14.2) โดยหนาแน่นสูงในพื้นที่ชุมชนปัจฉิมทัศน์ 1 และ 2 สามัคคี 1 และ 2 ธัญญา 2 และนาควิชัย 1 ผลการศึกษานี้ พบว่า ความหนาแน่นของประชากร การระบายอากาศของที่พักอาศัย และค่าสัดส่วนความเสี่ยง (HQ) จาก PM2.5 เป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญที่สัมพันธ์กับตำแหน่งของผู้ป่วยวัณโรค ในรูปแบบเกาะกลุ่ม ในขณะที่ความชิดของบ้านพักอาศัย แสดงโอกาสความเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคที่สูง  ในส่วนของการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพจาก PM2.5 เบื้องต้น ในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของวัณโรคสูง (ปัจฉิมทัศน์ 1 และ 2) พบว่า ค่าสัดส่วนความเสี่ยง อยู่ในค่ายอมรับได้ต่อการสัมผัส PM2.5 ทั้งนี้ การศึกษา ยังได้พัฒนาข้อเสนอแนะ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคของเมืองมหาสารคาม

          อรวรรณพร (2561) ได้พัฒนาข้อมูลเชิงพื้นที่ของร้านปิ้งย่าง พร้อมรายละเอียดเฉพาะ (Specific Details) ของ 6 ชุมชน ได้แก่ ปัจฉิมทัศน์1, 2 ธัญญา 1, 2 และ 3 และสามัคคี1  และเพื่อประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เบื้องต้น จากกิจกรรมการปิ้งย่าง โดยอาศัยการสำรวจพื้นที่ สัมภาษณ์ข้อมูล และการประยุกต์ใช้เทคนิคด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ การศึกษา พบว่า มี 11 ร้านปิ้งย่าง โดยเปิดให้บริการ ตั้งแต่ 04:00- 20:00 น. ส่วนใหญ่ ให้บริการทุกวัน ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ ได้แก่ ไก่ หมู และปลา  และเชื้อเพลิงที่ใช้ คือ ถ่าน ทั้งนี้ ช่วงเวลา 07:00 และ 12:00 น. เป็นช่วงเวลาที่มีการจำหน่ายสูงสุด และจากการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพจาก PM2.5 ของ 7 ร้าน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนที่มีการพักอาศัยหนาแน่น ร่วมกับการใช้ข้อมูลตรวจวัด PM2.5โดย AirBeam  (เฉพาะช่วงเวลาที่มีการปิ้งย่าง) พบว่า ทุกร้าน มีค่าสัดส่วนความเสี่ยง (HQ) อยู่ในค่าที่ยอมรับได้ต่อการรับสัมผัส PM2.5 อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัส PM2.5  โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ย่านที่มีการการประกอบกิจกรรมปิ้งย่างหนาแน่น โดยการศึกษานี้ ได้พัฒนาข้อเสนอแนะ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดจาก PM2.5  จากกิจกรรมปิ้งย่างด้วย 

          กรรณ์วิกา  และสุรีรัตน์ (2560) ได้ศึกษาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร (Particulate matter with a diameter less than 2.5 micrometer หรือ PM2.5) ซึ่งกลายเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่ได้รับความสนใจ ในหลายพื้นที่ที่กำลังขยายสู่ความเป็นเมือง โดยได้พิจารณาพื้นที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์และค้นหาพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการติดตามคุณภาพอากาศและอุตุนิยมวิทยา และเพื่อสร้างความตระหนักด้านผลกระทบของฝุ่นละอองต่อสุขภาพ สำหรับการรับมือและปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง ซึ่งพิจารณาควบคู่กับข้อมูลการตรวจวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ตามเส้นถนน โดยใช้ AirBeam ครอบคลุม 17 ชุมชน ในเขตเมือง ทั้งนี้ ได้พิจารณาช่วงเวลาเร่งรีบ 2 ช่วงเวลา ได้แก่ เช้า (07:00-10:00 น.) และเย็น (15:00-18:00 น.) ทั้งวันทำงานและวันหยุด พร้อมทั้งสัมภาษณ์ข้อมูลจากชุมชน จำนวน 136 คน ร่วมกับผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขของชุมชนที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งใช้เป็นข้อมูล ในการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นและบ่งชี้พื้นที่เสี่ยงด้านสุขภาพ จากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ โดยอาศัยเทคนิคสารสนเทศภูมิศาสตร์ พบว่า มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ทั่วไป จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ใกล้กับคณะแพทย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬามหาสารคาม คณะวิทยาศาสตร์การจัดการ (มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม) และคณะการจัดการและการสื่อสารสารสนเทศ (มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม) และพื้นที่ใกล้ถนน จำนวน 11 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ใกล้ถนนที่อยู่ใกล้คณะสัตวแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) โรงพยาบาลสุทธาเวชคณะแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ศูนย์บริการทางการแพทย์           คณะแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬามหาสารคาม สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน คณะบัญชีและการจัดการ ม.เก่า (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) สถานีตำรวจเทศบาลเมืองมหาสารคาม สถานีตำรวจเทศบาลเมืองมหาสารคาม และโรงพยาบาลมหาสารคาม สำหรับการตรวจวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ใน 2 ช่วงเวลาเร่งด่วน  (เช้าและเย็น) พบว่า ในวันทำงาน (21 ก.พ. 2561) มีค่าเฉลี่ย 73.9±13.7 (เช้า) และ 64.0±22.9  (เย็น) มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ และในวันหยุด (24 ก.พ. 2561) มีค่าเฉลี่ย 60.7±19.2 และ 55.7±28.1 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ และการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพเบื้องต้น ประกอบด้วย 1) การประเมินสิ่งคุกคาม โดยพื้นที่นี้ มีแหล่งกำเนิดที่เป็นไปได้ ได้แก่ การจราจร (การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง) การปิ้งย่าง (โดยเฉพาะบริเวณที่มีกิจกรรมหนาแน่น เช่น บริเวณตลาดห้าแยก) และการเผาในที่โล่งแจ้ง (เช่น การเผาขยะ) 2) การประเมินการสัมผัส ซึ่งพิจารณาเฉพาะช่วงเวลาเร่งรีบ ในที่นี้ คือ 6 ชั่วโมง โดยใช้ข้อมูลต่าง ๆ จากการสัมภาษณ์ประชาชน และ 3) การประเมินขนาดสัมผัสกับการตอบสนอง ซึ่งพิจารณาในรูปค่าสัดส่วนความเสี่ยงจากการศึกษา พบว่า มีค่าเท่ากับ 0.98 (≤1 คือ ค่ายอมรับได้ต่อการสัมผัสฝุ่น) ซึ่งได้เปรียบเทียบกับการตรวจวัด PM10 (คำนวณในรูป PM2.5, ระยะเวลา 24 ชั่วโมง) ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 (2-4 มิ.ย. 2560) ในบริเวณสถานีตำรวจและสี่แยกเจริญเดช พบว่า ค่าสัดส่วนความเสี่ยง เท่ากับ 0.52 และ 2.29 (มีเหตุขัดข้องด้านไฟฟ้าระหว่างการตรวจวัด) ซึ่งค่าดังกล่าว เข้าใกล้ค่ายอมรับต่อการสัมผัสฝุ่นและมีโอกาสสูงกว่า ซึ่งบ่งชี้ว่า เมืองมหาสารคาม ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของผู้อาศัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 9 พื้นที่ ตลอดจนควรมีการศึกษาคุณภาพอากาศเชิงลึกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนที่พักอาศัย สามารถป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ โดยการสวมใส่ผ้าปิดจมูกที่มีมาตรฐาน เมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่/หรือพื้นที่ที่มีกิจกรรมเสี่ยงเป็นระยะเวลานาน และงดการเผาขยะในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีการพักอาศัยแออัดและการระบายอากาศทำได้ไม่ดีพอ
              สำหรับการจราจร จากการศึกษาของกรรณภิรรมย์   และปิยะพร  (2565) ซึ่งได้ตรวจวัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่สัมพันธ์กับปริมาณจราจรบนถนน เพื่อประกอบการวางแผนการจัดการด้านฝุ่นในเมืองมหาสารคามที่เกิดจากการจราจร โดยใช้เครื่องวัดคุณภาพอากาศราคาต่ำ (Airbeam) และตรวจวัดระยะเวลา 1 สัปดาห์ ณ พื้นที่หอนาฬิกาเมืองมหาสารคาม ซึ่งเป็นจุดเชื่อมของถนน 4 สาย ได้แก่ ถนนแจ้งสนิท1 ถนนแจ้งสนิท 2 ถนนผดุงวิถี และถนนนครสวรรค์ จากการศึกษาพบว่า ปริมาณจราจรมีค่าสูงในวันธรรมดา (47.58 µg/m3) และมีค่าต่ำในวันหยุด (33.03 µg/m3)  โดยคิดเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ รถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก และรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับปริมาณรถจักรยานยนต์ (P < 0.05) ซึ่งไม่ได้พิจารณาวันพุธ ที่ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กมีค่าต่ำ ค่าการปล่อยของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากรถจักรยานยนต์มีค่าสูงสุด (1050.8 กรัม/สัปดาห์) รองลงมารถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก (384.0 กรัม/สัปดาห์) รถยนต์ส่วนบุคคล (80.2 กรัม/สัปดาห์ ) และรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก (1.8 กรัม/สัปดาห์) ตามลำดับ โดยพบว่าองค์ประกอบของฝุ่นละอองขนาดเล็กส่วนใหญ่ที่ปล่อยจากยานพาหนะแต่ละประเภท ได้แก่ Elemental Carbon (198.6 กรัม/สัปดาห์) จากรถยนต์ส่วนบุคคล Elemental Carbon (0.92 กรัม/สัปดาห์) จากรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ Elemental Carbon (196.5 กรัม/สัปดาห์) จากรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก และ Organic Carbon (5.2 กรัม/สัปดาห์)  โดยมาตรการในการแก้ไข คือ ต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาจากแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองให้ชัดเจน และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ควบคู่กับการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมให้บริการอย่างทั่วถึง

         A web-based tool prototype for PM2.5 management in Maha Sarakham province was developed. This tool was designed to build local capacity by disseminating PM2.5 pollution research information via different platforms (e.g., text, media, and dramatic performance). Information regarding its research findings,  monitoring data from several sources, potential sources & emission estimations, legal measures for pollution prevention & control, and successful reduction in community biomass burning were considered. This tool will also support policymakers in establishing their own short and long-term PM2.5 strategic plans with integrated approaches. Lessons learned from past studies, literature reviews, best PM2.5 emission control community practices, and long-term collaborative experiences with local governments were included in the website design. An overview of the web-based tool provided an alternative guideline for each local administration to prepare necessary actions for continuous PM2.5 management at the site of interest. Establishing PM2.5 pollution control guidelines and sharing essential data by local governments are co-beneficial indicators critical to the sustainable use of the PM2.5 self-management tool.
Platform:  http://is.it.msu.ac.th/it/001/dust2/index.php 

เอกสารอ้างอิง
เกศริน ซ้ายหนองขาม และอารียา วังราช. การผันแปรเชิงพื้นที่และเวลาของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สัมพันธ์กับกิจกรรมการลดการเผาในจังหวัดมหาสารคาม. [วิทยานิพนธ์
      ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต]. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2564. 
พาทิศ สิทธิโชติและธายุกร พระบำรุง. 2564. การศึกษาการเคลื่อนย้ายของหมอกควันระดับภูมิภาคจากการเผาไหม้ของมวชีวภาพทางการเกษตร โดยใช้แบบ
     จำลอง HYSPLIT: กรณีศึกษาเมืองมหาสารคาม. ในการประชุมทางวิชาการทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 5 (หน้า 25-38). 
      มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
พวงผกา เจนไธสง และเบญจพร พวงจันทร์. การคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพเบื้องต้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากควันธูป ในกิจกรรมศาสนพิธีในผู้สูงอายุ. [วิทยานิพนธ์         ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต]. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2563.
ปิยาภรณ์ ชาวอุบล. การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ของปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สัมพันธ์ตอความเสี่ยงในการเกิดวัณโรคในเมืองมหาสารคาม. [วิทยานิพนธ์             ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต]. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2561. 
อรวรรณพร บุญล้อม. การคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพเบื้องต้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการปิ้งย่างโดย AirBeam. [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต].        
      มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2561. 
กรรณ์วิกา รักดอนตาล และสุรีรัตน์ โสมโสก. การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อการติดตามคุณภาพอากาศและการเฝ้าระวังด้านสุขภาพจากมลพิษ        จากฝุ่นละะอองในเมืองมหาสารคาม. [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต]. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2560. 
กรรณภิรมย์  ศรีษะนาราช และปิยะพร  หาญฉวี. การศึกษาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สัมพันธ์กับการจราจรบนถนนในพื้นที่เมืองมหาสารคาม 
     [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต]. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2565.
Prabamroong, T. Chatprompong, S. and Nilati, P. (2021) Prototype of Web-Based Tool Using Integrated Approaches for Self-PM2.5 Management for Maha Sarakham Province. The 6th EnvironmentAsia Virtual International Conference on "Challenge of Global Environmental Changes in the 21st Century" 20-21 December 2021: Bangkok, Thailand. 

ส่วนที่ 6: ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e Emission) 
       ชฎาพร และสมฤดี (2558) ได้พัฒนาบัญชีการปลดปล่อยสารมลพิษทางอากาศของจังหวัดมหาสารคามจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม (การเผาไหม้และกระบวนการผลิต) โรงไฟฟ้า ยานพาหนะ (เชื้อเพลิงดั้งเดิมและทางเลือก) และที่พักอาศัยและย่านการค้า (การใช้ปิโตรเลียมเหลวในครัวเรือนและสถานีเติมน้ำมัน)       โดยได้พิจารณาปี 2555 เป็นฐานในการประมาณค่าการปลดปล่อย ซึ่งชนิดของมลพิษทางอากาศ ครอบคลุมกลุ่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ PM10 PM2.5 NO2และ CO และที่เกี่ยวกับการเกิดโอโซนผิวพื้น ได้แก่ CO NMVOC และ NOx และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ได้แก่ CO2 และ CH4 จากการคำนวณปริมาณการปลดปล่อยสารมลพิษ พบว่า  ในบรรดาแหล่งกำเนิดทั้งหมด ยานพาหนะ เป็นแหล่งกำเนิดหลัก รองลงมา คือ โรงงานอุตสาหกรรม โดยยานพาหนะนั้น ปลดปล่อย NOx (as NO2)  NMVOC CO PM10 PM2.5 และ CO2 เท่ากับ 7,719 1,044 8,015 507,414 และ 1,413,492 ตัน/ปี ตามลำดับ ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรม ปลดปล่อย NOx  (as NO2) NMVOC CO PM10 PM2.5 CO2 และ CH4 เท่ากับ 112  4,501 4,051 0.06 0.04 1,188,648 และ 32 ตัน/ปี ตามลำดับ เมื่อพิจารณาแต่ละสารมลพิษทางอากาศ พบว่า CO2 มีการปลดปล่อยสูงที่สุดจากยานพาหนะ โดยโรงงานอุตสาหกรรมและที่พักอาศัยและย่านการค้านั้น  มีค่าการปลดปล่อยที่ใกล้เคียงกัน          ในขณะที่ฝุ่นละออง (PM) ส่วนใหญ่มาจากยานพาหนะ รองลงมา คือ ที่พักอาศัยและย่านอุตสาหกรรม ในส่วนของการกระจายเชิงพื้นที่ พบว่า มลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกมลสารและจากโรงไฟฟ้าทุกมลสาร มีค่าการปลดปล่อยมากที่สุด ใน ต.แก้งแก อ.โกสุมพิสัย และจากยานพาหนะทุกมลสารใน ต.ท่าสองคอน       อ.เมือง ซึ่งมีถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างจังหวัดขอนแก่น สำหรับที่พักอาศัยและย่านการค้านั้น พบว่า การปลดปล่อย NMVOC จากสถานีบริการน้ำมันสูงที่สุด ใน ต.กุดปลาดุก อ.ชื่นชม และการปลดปล่อยของทุกสารมลพิษจากการใช้ LPG ในครัวเรือน สูงที่สุด ใน ต.ตลาด อ.เมือง  นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ ได้พัฒนารูปแบบการผันแปรเชิงเวลาเบื้องต้นของสารมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด     ต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาคุณภาพอากาศในจังหวัดนี้ในอนาคต 

เอกสารอ้างอิง
ชฎาพร มัจฉาชาติและสมฤดี เกษแก้ว. ฐานข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศและการผันแปรเชิงพื้นที่เวลา. กรณีจังหวัดมหาสารคาม. [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต]. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2558. 

ส่วนที่ 7: การพัฒนาเมืองรีซิเลียนซ์ต่อภัยพิบัติ
การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระบบและกลไกในการสร้างความยืดหยุ่นด้านภัยพิบัติของเมืองมหาสารคาม ภายใต้โครงการริ่เริ่ม Making Cities Resilient 2030 (MCR2030) ของสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชา- ชาติ โดยใช้การวิเคราะห์สถานะปัจจุบันของการบริหารจัดการของเทศบาลเมือง การประเมินการรับรู้ของผู้แทนส่วนบริหารของส่วนงานภายใน โดยการจัดประชุมและสัมภาษณ์ข้อมูล ประเมินเบื้องต้นโดยใช้ Scorecard การประเมินความสอดคล้องเพื่อบูรณาการกับการพัฒนาเมืองยืดหยุ่นและการเสนอแนะแนวทางสหวิทยาการเพื่อผลักดันสู่การเป็นเมืองยืดหยุ่น โดยการสนับสนุนด้านเทคนิคจากสถาบันการศึกษา จากการศึกษา พบว่า การดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของเมืองมหาสารคามอยู่ที่ร้อยละ 39.7 โดยมีค่าสูงในส่วนศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (หลักการสำคัญ 8) และการตอบสนองต่อภัยพิบัติ (หลักการสำคัญ 9) คิดเป็นร้อยละ 63 และ 71.4 ตามลำดับ โดยสอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ต้องยกระดับความยืดหยุ่นให้ครอบคลุมทั้ง 10 หลักการสำคัญอย่างเป็นระบบและแบบองค์รวมซึ่งจะเป็นแนวทางการดำเนินการสำหรับเมืองอื่น ๆ   
 

เอกสารอ้างอิง
ธายุกร พระบำรุง ภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ เศรษฐา เณรสุวรรณ ปิยภัทร บุษบาบดินทร์  และสุนิสา สุดรัก. (2566). การสร้างเมืองยืดหยุ่นด้วยกลยุทธ์การศึกษา ภายใต้โครงการ MCR2030 กรณีของเมืองมหาสารคาม. ในการประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติ ครั้งที่ 1 ใน
หัวข้อ “ความยืดหยุ่นของภัยพิบัติในพื้นที่เมืองและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน” (Urban Disaster Resilience and Community Well-Being). กรุงเทพฯ: คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช.