ทรัพยากรชีวภาพ: วัตถุดิบท้องถิ่น
ขมิ้นชัน
ทรัพยากรชีวภาพ วัตถุดิบท้องถิ่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขมิ้นชัน
ชื่อสมุนไพร ขมิ้นชัน
ชื่ออื่นๆ ขมิ้น , ขมิ้นแดง , ขมิ้นหยวก , ขมิ้นหัว ,ขมิ้นแกง (เชียงใหม่) , ขี้มิ้น (ภาคใต้) , ตายอด (กะเหรี่ยงกำแพงเพชร) ,สะยอ (แม่ฮ่องสอน) หมิ้น (ตรัง)
ชื่อสามัญ Turmeric
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa Linn.
วงศ์ ZINGIBERACEAE
‘ขมิ้นชัน’ มีสารสำคัญที่ชื่อว่า เคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoid) ที่มีองค์ประกอบของสาร 3 ชนิด ได้แก่ เคอร์คูมิน (Curcumin) เดเมทอกซีเคอร์คูมิน (Demethoxycurcumin) และบิสเดเมททอกซีเคอร์คูมิน (Bisdemethoxycurcumin) ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง และต้านจุลินทรีย์ ดังนั้นขมิ้นชันจึงถูกนำมาใช้ในการรักษาแผลในทางเดินอาหาร แก้ปวดและลดอาการอักเสบของข้อ โดยสามารถแทนการใช้ยาแก้ปวดที่ไม่มีส่วนประกอบของสเตียร์รอย (NSAIDs: Non-Steroid Anti-Inflammatory Agent) และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน สำหรับความสามารถของเคอร์คูมินในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันนั้น หนึ่งในสารประกอบของเคอร์คูมินอยด์ ที่เรียกว่า ‘เคอร์คูมิน’สามารถลดการจับตัวของไวรัสกับผนังเซลในร่างกาย และลดการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัส ด้วยการทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้อีก
เคอร์คูมิน (Curcumin) เป็นสารที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและเนื้อเยื่อได้น้อย เพราะสามารถถูกทำลายได้ง่ายในลำไส้เล็ก และถูกเผาผลาญและกำจัดออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันจึงมีการคิดค้นและพัฒนาเคอร์คูมินให้อยู่ในรูปของไฟโตโซม ซึ่งเป็นเทคนิคในการทำให้สารจากธรรมชาติที่ถูกดูดซึมได้ยาก กลายเป็นสารที่ถูกดูดซึมได้ง่ายด้วย ฟอสฟาติดิลโคลีน (phosphatidylcholine) ที่อยู่ในเลซิตินนั่นเอง จึงทำให้เคอร์คูมินสามารถละลายได้ดีทั้งในน้ำและไขมัน โดยเฉพาะเคอร์คูมินสูตรลิขสิทธ์ Meriva ที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีกว่าสารสกัดขมิ้นชันแบบปกติ (Curcuminoids) ถึง 9 เท่า การทานขมิ้นชัน ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ให้สารสำคัญในรูปแบบไฟโตโซมนั้น นอกจากจะสะดวกในการับประทานแล้ว ยังสามารถดูดซึมได้ดีและเห็นผลที่ชัดเจนกว่าอีกด้วย ที่สำคัญยังเป็นสารอาหารที่ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน
ขมิ้นชัน (Turmeric) เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เนื้อในสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอม ตามหลักฐานทางสมุนไพร เราจะใช้เหง้าใต้ดินบดเป็นผง รักษาแผล แมลงกัดต่อย กลากเกลื้อน ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และ รักษาอาการท้องเสีย โดยสารสำคัญของขมิ้นชันที่เป็นสารออกฤทธิ์ คือ curcumin
ขมิ้นชัน เป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมอินเดียมาไม่น้อยกว่า 4,000 ปี โดยมันถูกใช้เป็นเครื่องเทศสำหรับปรุงอาหาร ใช้เป็นยา และย้อมผ้าซึ่งให้สีเหลืองสวย นอกจากนี้ ขมิ้นชันยังถูกใช้ในการเจิมบนหน้าผากเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ในพิธีสำคัญของศาสนาพุธและฮินดู เช่น พิธีมงคลสมรส และการคลอดบุตรอีกด้วย นอกจากนี้ขมิ้นชันยังเป็นเครื่องเทศชนิดแรก และสำคัญที่สุดที่ค้าขายกันบนเส้นทางสายไหม โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปถึง 50 ชื่อในภาษาสันสกฤต และยังถูกเรียกในชื่อต่างๆ ในภาษาที่ต่างกันไปทั่วโลกอีกด้วย โดยทั่วไปแล้ว ขมิ้นชันจะเติบโตในภูมิประเทศแบบป่าฝน และถูกใช้เป็นยามานับแต่โบราณ ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานการวิจัยซึ่งให้การรองรับถึงประโยชน์ของขมิ้นต่อสุขภาพซึ่งน่าอัศจรรย์ ดังนี้สำหรับภายใน เนื่องจากรสชาติ และสีที่เป็นเอกลักษณ์ ขมิ้นชันจึงถูกใช้ประกอบอาหารมานานแล้ว นอกเหนือไปจากความอร่อยแล้ว ขมิ้นชันยังมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงอีกด้วย โดยการบริโภคขมิ้นชันนั้นจะช่วยในเรื่องของหัวใจหลอดเลือด และระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ ยังมีภูมิปัญญาของคนโบราณที่ว่า หากกินขมิ้นชันพร้อมกับพริกไทยเล็กน้อยจะช่วยทำให้ร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ขมิ้นชันยังถูกใช้ในยาแผนปัจจุบันอีกด้วย จากรายงานวิจัย พบว่าตลอดช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีการใช้สารสกัดจากขมิ้นชันที่ชื่อว่า Curcumin (เคอร์คูมิน) ในการรักษาโรคต่างๆ ซึ่งสารตัวนี้ เมื่อได้รับอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดและป้องกันภาวะหลอดเลือดอุดตัน บรรเทาอาการของผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Hyperglycemia) และช่วยบรรเทาอาการสูญเสียความจำในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอีกด้วยอีกด้วย เนื่องจากขมิ้นชันนั้นมีสรรพคุณมากมาย ราคาไม่แพง และหาได้ง่าย ดังนั้นมันจึงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีหากเราจะเพิ่มเครื่องเทศชนิดนี้ลงไปในมื้อเย็น เพราะแม้ว่ามันจะไม่ได้เห็นผลในทันที แต่การรับประทานทุกวันอย่างต่อเนื่องจะให้ผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับผู้ที่กำลังใช้ยาเจือจางเม็ดเลือด และผู้ที่กำลังจะต้องเข้ารับการผ่าตัดในเวลาอันใกล้นี้
สำหรับผิว
- ช่วยลดความมัน
ขมิ้นชันมีคุณสมบัติในการควบคุมน้ำมันตามธรรมชาติ ดังนั้นหากคุณกำลังประสบปัญหาผิวมัน และรูขุมขนอุดต้น ลองเพิ่มสารสกัดขมิ้นชันลงไปในสูตรมาร์กหน้าของคุณดู หรือถ้าหากคุณใช้ขมิ้นชันแบบผงล่ะก็ คุณจะต้องผสมมันเข้ากับอย่างอื่นก่อนที่จะใช้มันพอกหน้า เพราะไม่อย่างนั้นผิวของคุณจะติดสีเหลืองได้
- ชะลอการเกิดริ้วรอย
ขมิ้นมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ (Anti-oxidant)ที่เป็นที่รู้จักว่าช่วยลดความตึงเครียด ศัตรูตัวฉกาจของความงาม ดังนั้นการใช้ขมิ้นชันจะช่วยป้องกันและชะลอการเกิดริ้วรอยได้อย่างน่าอัศจรรย์
- ลบเลือนจุดด่างดำ
ผู้คนที่ใช้ชีวิตภายใต้แสงอาทิตย์อันร้อนแรงอย่างเช่นในประเทศไทย อาจต้องกังวลกับปัญหาจุดด่างดำอันน่าหนักใจ แต่ก่อนที่คุณจะเสียเงินไปทำเลเซอร์ราคาแพง ทำไมไม่ลองใช้ขมิ้นชันดูก่อนล่ะ? หนุ่มสาวชาวอินเดียเองก็ใช้ชีวิตท่ามกลางแสงแดดเช่นเดียวกัน แต่ทว่ากลับยังมีผิวที่สดใสไร้จุดด่างดำ และเคล็ดลับในการดูแลผิวที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานก็คือ “การใช้ขมิ้นชันนั่นเอง”
- เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย
ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่มีความอ่อนโยนต่อผิว ดังนั้น จึงปลอดภัยกับผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย การใช้ขมิ้นชันจะช่วยทำให้ผิวของคุณนุ่มนวล อ่อนเยาว์ ด้วยแร่ธาตุและสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เหมาะสมกับผู้ที่มีผิวบอบบางที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษเช่นคุณ
ประโยชน์ที่ใช้ในทางแพทย์
ขมิ้นชัน (Curcumin) ได้รับการกล่าวถึงประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันโรคได้มากมายมาตั้งแต่อดีต เช่น โรคปวดข้อ ต้านการอักเสบในร่างกาย บรรเทาอาการท้องเสีย ยับยั้งการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรหรือเอชไพโลไร (Helicobacter Pylori) ท้องอืด ท้องเฟ้อ การอักเสบของผิวหนัง เป็นต้น
จากฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) ได้แบ่งระดับความน่าเชื่อถือของการใช้การรักษาทางเลือกจากธรรมชาติจากขมิ้นอยู่ในระดับการรักษาที่อาจได้ผล แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอต่อการระบุประสิทธิภาพ ซึ่งประโยชน์ต่อสุขภาพที่มีการค้นคว้าและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กล่าวถึง มีดังนี้
1. อาการจุกเสียดท้อง และผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ
สารเคอร์คูมิน (Curcumin) มักถูกกล่าวถึงคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร และเป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน จึงมีงานวิจัยบางส่วนที่ค้นคว้าเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารเคอร์คูมินเปรียบเทียบกับยาตัวอื่นที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะในผู้ที่ติดเชื้อเอชไพโลไรและมีอาการจุกเสียดท้อง จำนวน 25 คน โดยให้รับประทานสารเคอร์คูมิน 30 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงตรวจหาเชื้อเอชไพโลไร ตรวจดูความรุนแรงของอาการต่างๆ ในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ตรวจเลือด และตรวจหาสารภูมิต้านทานจากเชื้อเอชไพโลไร ผลพบว่าสารเคอร์คูมินช่วยลดอาการจุกเสียดท้องและลดการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารลงอย่างเห็นได้ชัด
2. โรคข้อเสื่อม
อีกคุณสมบัติทางยาของขมิ้นอาจช่วยบรรเทาอาการจากโรคข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากมีสารเคอร์คูมินที่มีฤทธิ์ต่อต้านกระบวนการอักเสบ โดยมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของสารเคอร์คูมินเปรียบเทียบกับยาไดโคลฟีแนคต่อการหลั่งเอนไซม์ Cyclooxygenase-2 (COX-2) ในน้ำไขข้อของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม 80 คน กลุ่มแรกรับประทานสารเคอร์คูมิน วันละ 30 มิลลิกรัม และอีกกลุ่มรับประทานยาไดโคลฟีแนค วันละ 25 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน 3 เวลาเช่นเดียวกันทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อครบ 4 สัปดาห์ จึงเจาะน้ำในข้อเข่าออกมาตรวจ เพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการรับประทาน ผลพบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างสารเคอร์คูมินและยาไดโคลฟีแนคในการยับยั้งการหลั่ง COX-2 ซึ่งเป็นเอมไซม์ที่หลั่งเมื่อเกิดการอักเสบ ปวด และบวม จึงเชื่อว่าสารเคอร์คูมินมีส่วนช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมได้ดีเช่นเดียวกับยา
มีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อการใช้สารสกัดจากขมิ้นเปรียบเทียบกับยาไอบูโปรเฟนในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม จำนวน 367 คน เพื่อดูอาการปวดและสมรรถภาพการใช้งานข้อเข่า ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มแรกรับประทานสารสกัดจากขมิ้น 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน และอีกกลุ่มรับประทานยาไอบูโปรเฟน 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ผลพบว่า สารสกัดจากขมิ้นมีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาไอบูโปรเฟนในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม และพบผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหารเล็กน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้ยา
3. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ขมิ้นมีคุณสมบัติที่เชื่อว่าช่วยต่อต้านการอักเสบ จึงมีการศึกษานำร่องทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้สารเคอร์คูมินเปรียบเทียบกับยาไดโคลฟีแนคในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เรื้อรัง 45 คน ในการทดลองแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานสารเคอร์คูมิน 500 มิลลิกรัมต่อวัน กลุ่มที่ 2 รับประทานยาไดโคลฟีแนค 50 มิลลิกรัม และกลุ่มที่ 3 รับประทานสารเคอร์คูมินร่วมกับยาไดโคลฟีแนค จากนั้นจึงวัดผลด้วยแบบประเมิน 2 ชุด พบว่าผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มมีอาการของโรคดีขึ้น แต่กลุ่มที่รับประทานสารเคอร์คูมินมีผลคะแนนสูงสุด อีกทั้งยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงจากการรับประทาน ขมิ้นจึงอาจมีความปลอดภัยและเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และข้ออักเสบชนิดอื่น ซึ่งยังต้องค้นคว้าเพิ่มเติมในกลุ่มทดลองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
4. อาการคัน หรือการอักเสบผิวหนัง
ขมิ้นมีสารเคอร์คูมินที่เชื่อว่ามีส่วนสำคัญในการยับยั้งกระบวนการอักเสบภายในร่างกาย จึงอาจช่วยลดอาการคันในผู้ป่วยบางโรคได้ โดยมีงานวิจัยถึงประสิทธิภาพของขมิ้นต่ออาการคันเปรียบเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 100 คน ผลปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานขมิ้นมีอาการคันลดลงกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ และยังไม่พบผลข้างเคียงทั้ง 2 กลุ่ม จึงคาดว่าขมิ้นมีส่วนช่วยลดอาการคันในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง แต่ยังไม่สามารถยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขมิ้นต่อร่างกายในระยะยาวได้แน่ชัด
นอกจากนี้ การศึกษาอีกชิ้นเรื่องคุณสมบัติของสารเคอร์คูมินด้านการต้านอักเสบในผู้ป่วยผื่นผิวหนังจากสารซัลเฟอร์ มัสตาร์ด เพศชาย 69 คน อายุ 37-59 ปี โดยทดลองทาสารสกัดจากเคอร์คูมิน 1 กรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับยาหลอก ติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อดูความรุนแรงของอาการคันเรื้อรังและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ผลพบว่า ฤทธิ์ต้านการอักเสบของเคอร์คูมินในขมิ้นช่วยยับยั้งสารในกระบวนการอักเสบบางชนิดได้มากกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก
จะเห็นได้ว่าขมิ้นชัน (Curcumin) เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ให้ประโยชน์กับร่างกายได้อย่างมากมาย รวมไปถึงสามารถป้องกันเชื้อไวรัส ซึ่งทุกคนสามารถมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง เพียงเลือกทานสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มอย่างขมิ้นชันในรูปแบบไฟโตโซม สูตรลิขสิทธิ์ Meriva ได้ทุกวัน ด้วยความห่วงใยจาก MEGA We care
ประโยชน์และสรรพคุณ
- ช่วยเจริญอาหาร
- ยาบำรุงธาตุ ฟอกเลือด
- แก้ท้องอืดเฟ้อ แน่น จุกเสียด
- ช่วยลดน้ำหนัก
- ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- อาการดีซ่าน
- แก้อาการวิงเวียน
- แก้หวัด
- แก้อาการชัก ลดไข้
- ขับปัสสาวะ
- รักษาอาการท้องมาน
- แก้ไข้ผอมแห้ง
- แก้เสมหะและโลหิตเป็นพิษ โลหิตออกทางทวารหนักและเบา
- แก้ตกเลือด
- แก้อาการตาบวม
- แก้ปวดฟันเหงือกบวม
- มีฤทธิ์ระงับเชื้อ ต้านวัณโรค
- ป้องกันโรคหนองใน
- แก้ท้องเสีย แก้บิด
- รักษามะเร็งลาม
- ช่วยลดอาการฟกช้ำบวม ปวดไหล่และแขน บวมช้ำและปวดบวม
- แก้ปวดข้อ
- ใช้สมานแผลสดและแผลถลอก ผสมยานวดคลายเส้นแก้เคล็ดขัดยอก
- แก้น้ำกัดเท้า แก้ชันนะตุ
- แก้กลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน
- ใช้สมานแผล รักษาฝี แผลพุพอง
- ลดอาการแพ้ อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- ใช้ห้ามเลือด
- รักษาผิว บำรุงผิว
- ช่วยลดหน้าท้องลายหลังคลอดบุตร
- ช่วยลดกลิ่นปาก
รูปแบบและขนาดวิธีการใช้ขมิ้นชัน
แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด อาหารไม่ย่อย อาการแสบคัน แก้หิว และแก้กระหาย ทำโดยล้างขมิ้นชันให้สะอาด ไม่ต้องปอกเปลือกออก หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแดดจัดสัก 1-2 วัน บดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดขนาดปลายนิ้วก้อย กินครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3 -4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน แต่บางคนเมื่อกินยานี้แล้วแน่นจุกเสียดให้หยุดกินยานี้
ใช้ภายใน(ยารับประทาน):
• ยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันแห้ง 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน อาจปั้นเป็นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง
• เหง้าแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว ขูดเปลือก ล้างน้ำให้สะอาดตำให้ละเอียด เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง
ใช้ภายนอก:
• ใช้เหง้าขมิ้นแก่สดฝนกับน้ำสุก หรือผงขมิ้นชันทาบริเวณที่เป็นฝี แผลพุพอง หรืออักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย
• เหง้าแก่แห้ง บดเป็นผงละเอียด ทาบริเวณที่เป็นเม็ดผื่นคัน
• เหง้าแห้งบดเป็นผง นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด
• เหง้าแก่ 1 หัวแม่มือ ล้างสะอาดบดละเอียด เติมสารส้มเล็กน้อย และน้ำมันมะพร้าวพอแฉะๆใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลพุพอง ที่หนังศีรษะ
ขนาดที่ใช้ในการรักษาอาการ dyspepsia
รับประทานผงขมิ้นชันในขนาด 1.5 - 4 กรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 - 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน หรือรับประทานขมิ้นชันในรูปแบบแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันอบแห้ง 250 มก. รับประทานครั้งละ 2 – 4แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอนการขยายพันธุ์ขมิ้นชัน
ขมิ้นชัน ชอบแสงแดดจัดและมีความชื้นสูง ชอบดินร่วนซุย มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง วิธีปลูกใช้เหง้าหรือหัวอายุ10-12เดือนทำพันธุ์ ถ้าเป็นเหง้าควรยาวประมาณ8-12ซม.หรือมีตา6-7ตา ปลูกลงแปลง กลบดินหนาประมาณ5-10ซม. ขมิ้นจะใช้เวลาในการงอกประมาณ30-70วันหลังปลูก ควรรดน้ำทุกวัน หลังจากนั้นเมื่อขมิ้นมีอายุได้ 9-10 เดือนจึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้
• ฤดูกาลปลูก : ควรเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคม
• ฤดูการเก็บเกี่ยว : จะเก็บเกี่ยวหัวขมิ้น ในช่วงฤดูหนาวหรือประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งช่วงนี้หัวขมิ้นชันจะแห้งสนิท
องค์ประกอบการทางเคมีของขมิ้นชัน
สารกลุ่มเคอร์คิวมินนอยด์ (curcuminoids) ประกอบด้วย เคอร์คูมิน (curcumin), monodesmethoxycurcumin, bisdesmethoxycurcumin
น้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) มีสีเหลืองอ่อน สารหลักคือเทอร์เมอโรน (turmerone) 60%, ซิงจิเบอรีน (zingiberene) 25%, borneol, camphene, 1, 8 ciniole , sabinene, phellandrene
องค์ประกอบทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับการรักษาอาการ dyspepsia
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพบว่า เหง้าขมิ้นชัน ประกอบด้วยสารสําคัญ 2 กลุ่มคือcurcuminoids ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่ให้สีเหลืองส้ม มีประมาณ 1.8 – 5.4% ประกอบด้วย curcumin และสารอนุพันธ์ของ curcumin ได้แก่ demethoxy curcumin และ bisdesmethoxycurcumin และสารสําคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือน้ำมันหอมระเหย (volatile oils) สีเหลืองอ่อน ที่มีอยู่ประมาณ 2 – 6% ประกอบด้วยสารประกอบmonoterpenes และ sesquiterpenes เช่น turmerone, zingeberene, curcumene และ borneol เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ:
1. http://scijournal.hcu.ac.th/data/Vol.2%20Usefulness.pdf
2. https://www.disthai.com/16488284/ข้อมูล
3. www.pinterest.com/ภาพขมิ้นชัน